การใช้สมุนไพรป้องกันโควิด ก่อนติด ติดโควิดแล้ว และหายป่วยโควิด ต้องใช้ตัวไหน
ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ไม่อ่อนโยนต่อพวกเราเลย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเกือบเฉียดหมื่นรายมาหลายสัปดาห์ ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาจยังไม่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ รวมถึงฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถติดโควิดได้อีก ทำให้การดูแลตัวเองในช่วงนี้สำคัญมาก แต่หากจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อยาบำรุงร่างกายช่วงนี้ ก็อาจจะยังไม่เหมาะสมเท่าไหร่
วันนี้ TrueID จึงอยากชวนทุกคนมาลองมองสมุนไพรใกล้ตัว ว่าอะไรพอจะช่วยป้องกันโควิดได้บ้าง ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งก่อน ระหว่างและหลังติดเชื้อโควิด
การใช้สมุนไพรดูแลสุขภาพในช่วงโควิด-19
การใช้สมุนไพรดูแลสุขภาพ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการรักษาโรค มีส่วนช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกันและมีส่วนช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ บรรเทาอาการของโควิด-19 ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง (ยังไม่พบปอดอักเสบ) ช่วยลดโอกาสที่เชื้อจะพัฒนารุนแรง ลดระยะการเจ็บป่วยให้สั้นลง และลดโอกาสเกิดผลกระทบต่อสุขภาพภายหลังจากการติดเชื้อ
ทั้งนี้ผู้ใช้ควรศึกษารายละเอียดการใช้อย่างรอบคอบจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย วิธีการใช้ที่ถูกต้อง ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง ก่อนพิจารณาตัดสินใจใช้ หากสงสัย หรือ มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรรับการรักษาตามแผนมาตรฐาน
สมุนไพรตามช่วงเวลาการติดโควิด-19
สมุนไพรที่ใช้ก่อนติดเชื้อโควิด-19
กินอาหารเป็นยาเสริมภูมิคุ้มกัน เน้นกลุ่ม เครื่องเทศ เช่น กระชาย ขิง หอม หูเสือ ตะไคร้ กะเพรา
1.ยาฟ้าทะลายโจร ในผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19
2.ยาตรีผลา (มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน)
สมุนไพรที่ใช้เมื่อติดเชื้อโควิด-19
ใช้บรรเทาอาการในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง
1.ยาฟ้าทะลายโจร
2.ยาขิง
3.ยาแก้ไอมะขามป้อม
4.ยาสุม (รมไอน้ำ)
5.ยาปราบชมพูทวีป (ใช้ในกรณีมีอาการคัดจมูก น้ำมูก หรือ หายใจไม่สะดวกร่วมด้วย ห้ามใช้ขณะมีไข้สูงหรือตัวร้อนสูง)
สมุนไพรที่ใช้หลังหายป่วยโควิด
ตำรับยาใช้ฟื้นฟู บำรุงปอด
1.ยาตรีผลา
2.ยาปราบชมพูทวีป
3.ยาอภัยสาลี
หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อยาบางชนิดที่ต้องใช้ในแต่ละช่วงเวลาในสถานการณ์โควิด-19 TrueID จึงมาขยายสรรพคุณสมุนไพรไทยแต่ละชนิดเพิ่มเติม ดังนี้
1.ยาฟ้าทะลายโจร
ใช้รักษา และใช้เสริมภูมิคุ้มกัน โดยทาน 5 วันต่อสัปดาห์ นาน 3 เดือน ผู้ป่วยที่ควรได้รับฟ้าทะลายโจร คือ กลุ่มที่มีอาการไข้ เจ็บคอ ครั่นเนื้อครั่นตัวและผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 ในวงแรก
สรรพคุณ
- เสริมภูมิคุ้มกัน
- ต้านไวรัส
- ลดการอักเสบ
- ขับเหงื่อ
- บรรเทาอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ
วิธีใช้ยาป้องกันโควิด-19
- อายุ 12 ปี ขึ้นไป ใช้ผงยาฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 4 ครั้ง (ประมาณครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง) เป็นเวลา 5 วัน
- อายุ 4-11 ปี สารเอนโดรกราโฟไลด์ 30 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้กินวันละ 3 ครั้ง (ประมาณครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง) เป็นเวลา 5 วัน
- ใบสดอายุจากต้น 3 เดือนขึ้นไป 4-7 ใบ ชงน้ำดื่ม วันละ 3 ครั้ง
ข้อควรระวัง
ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ให้นมบุตร ระวังการใช้ระยะยาวกับผู้ที่หนาวง่าย ความดันโลหิตต่ำ เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยาลดความดัน ไม่แนะนำให้เสริมภูมิคุ้มกันในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และในผู้ป่วยที่ตับและไตไม่ดี รวมถึงผู้ใช้ยาวาร์ฟาริน
2.ยาขิง
สรรพคุณ
- เสริมภูมิคุ้มกัน
- ต้านไวรัส
- ลดการอักเสบ
- ขับเหงื่อ
- ลดเสมหะ
- เพิ่มการไหลเวียนโลหิต
- แก้คัดจมูก
วิธีใช้ยาป้องกันโควิด-19
ขิงสด ใช้ปริมาณ 1.5-3 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 แก้วชา ปรับรสได้ด้วยน้ำผึ้ง มะนาว วันละ 1-3 ครั้ง หลังอาหาร
ชนิดแคปซูล วันละ 1-2 แคปซูล หลังอาหาร หากอาการหวัด คัดจมูกดีขึ้น ควรหยุดยา
ข้อควรระวัง
ขิงมีผลเสริมยาละลายลิ่มเลือด ระวังใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ชนิดยาแคปซูลควรหลีกเลี่ยงในผู้มีไข้ และเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
3.ยาแก้ไอมะขามป้อม
สรรพคุณ
- เสริมภูมิคุ้มกัน
- ต้านไวรัส
- ลดการอักเสบ
- แก้ไอ
- ละลายเสมหะ
วิธีใช้ยาป้องกันโควิด-19
จิบหรืออมวันละ 3 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการไอ ระคายคอ เสมหะข้นเหนียว
ข้อควรระวัง
ยาอาจทำให้ท้องเสีย ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้แนะนำให้ใช้รูปแบบชาชงมะขามป้อม (ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล)
4.ยาสุม (รมไอน้ำ)
ยาสุม(รมไอน้ำ) เป็นการปรุงยารูปแบบหนึ่ง โดยการนำสมุนไพรมาต้มแล้วสูดเอาไอ เป็นกระบวนการที่ใช้ไอน้ำในการนำพาตัวยาเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสมุนไพรที่นำมาใช้จะเป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบ และสมุนไพรใช้ตามอาการ เมื่อไอน้ำถูกสูดดมเข้าไปพร้อมลมหายใจ กลิ่นของสมุนไพรจะช่วยเยียวยาระบบทางเดินหายใจ ลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลได้
สรรพคุณ
- แก้คัดจมูก
- ช่วยขับเสมหะและน้ำมูกออกจากทางเดินหายใจ
วิธีใช้ยาป้องกันโควิด-19
สมุนไพรที่แนะนำ เช่น หอมแดง ตะไคร้ กะเพรา มะนาว มะกรูด ขิง สะระแหน่ หั่นเป็นชิ้นเล็กใส่กะละมัง แล้วเติมน้ำร้อนจนท่วม อาจโรยด้วยพิมเสนหรือการบูรเล็กน้อยแต่งกลิ่น
วิธีทำ : ใช้ผ้าคลุมศีรษะพร้อมกะละมังให้ปิดสนิท สูดหายใจเอาไอระเหยของสมุนไพรเข้าไป หายใจเข้า - ออกช้าๆ ทำเมื่อมีอาการหวัดคัดจมูก ไอ จาม โดยสุมยาครั้งละ 3-5 นาที วันละ 1-2 ครั้งจนกว่าอาการจะดีขึ้น
ข้อควรระวัง
ไม่ควรสุมยาแก้หวัด ในผู้ที่มีไข้ ตัวร้อน วิงเวียนศีรษะ เพราะอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลมได้
5.ตำรับยาบำรุงปอด
สรรพคุณ
- ช่วยฟื้นฟูปอด
- ขยายหลอดลม
- แก้หอบหืด
วิธีใช้ยาป้องกันโควิด-19
สมุนไพรในตำรับประกอบด้วย ใบหนุมานประสานกาย ฝาง, ใบมะคำไก่, แสมสาร,แห้วหมู และเถาวัลย์เปรียง อย่างละเท่าๆกัน
วิธีทำ : ใส่น้ำท่วมตัวยา ต้มเดือด 15 นาที ครั้งละ 1 แก้วชา วันละ 1-3 ครั้งก่อนอาหาร กินได้นาน 3 เดือนหรือตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทย
ข้อควรระวัง
ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจที่คุมอาการไม่ได้ ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน
6.ยาตรีผลา
มีผลกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันทั้งภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดและภูมิคุ้มกันจำเพาะโดยทำให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตัวช่วยจัดการกับไวรัส
สรรพคุณ
- เสริมภูมิคุ้มกัน
- ต้านไวรัส
- ลดอักเสบ
- แก้ไอ ละลายเสมหะ
วิธีใช้ยาป้องกันโควิด-19
สมุนไพรในตำรับประกอบด้วย สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อมอย่างเท่าๆกัน ครั้งละ 300-600 มิลลิกรัม มาผสมรวมกัน เมื่อมีอาการไอ วันละ 3-4 ครั้ง
ข้อควรระวัง
อาจทำให้ท้องเสีย
7.ยาปราบชมพูทวีป
สามารถใช้ได้ในระยะที่มีการติดเชื้อ ร่วมกับการรักษามาตรฐาน กรณีที่มีอาการคัดจมูก หายใจลำบาก และต้องไม่มีไข้สูง และสามารถใช้หลังติดเชื้อ เพื่อดูแลระบบทางเดินหายใจได้
สรรพคุณ
- บรรเทาอาการของหวัด คัดจมูก
- ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
วิธีใช้ยาป้องกันโควิด-19
ตัวยาในตำรับ ประกอบด้วย เหงือกปลาหมอ(ทั้งต้น) พริกไทยดำ ใบกัญชาเทศ หัสคุณเทศ ดอกกานพลู หัวบุกรอ เนื้อลูกสมอเทศ เนื้อลูก สมอไทย รากเจตมูลเพลิงแดง เหง้าขิง เทียนแดง เทียนตาตั๊กแตน เทียนแกลบ เทียนดำ โกฐสอ โกฐเขมา ลูกพิลังกาสา ลำพันหางหมู ดอกดีปลี การบูร ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน
วิธีใช้ : ครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอนใช้รักษาตามอาการ หยุดยาได้ทันทีเมื่ออาการดีขึ้น ปกติหากเป็นหวัดธรรมดา จะใช้เวลา 5-7 วัน
ข้อควรระวัง
ไม่ควรใช้เมื่อมีไข้ตัวร้อน ระวังการใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน เนื่องจากยามีรสร้อน ผู้มีความผิดปกติของตับและไต , กินยาวาร์ฟาริน และตั้งครรภ์ให้นมบุตร ไม่ควรใช้
8.ยาอภัยสาลี หรือ อไภยสาลี
มีการศึกษาของโรงพยาบาลเทิง ในการใช้ตำรับยาอภัยสาลีรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน พบว่าได้ผลดี มีความปลอดภัย การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การรับประทานยาอภัยสาลี ร่วมกับการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีผลเพิ่มความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด ลดความเหนื่อย คุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานเพียงอย่างเดียว
สรรพคุณ
- ใช้บำบัดโรคลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง
- ช่วยกระจายลม
วิธีใช้ยาป้องกันโควิด-19
สมุนไพรในตำรับ ประกอบด้วย หัสคุณเทศ พริกไทยล่อน แก่นจันทร์เทศ รากเจตมูลเพลิงแดง หัวบุกรอ เนื้อลูกสมอไทย เนื้อลูกสมองเทศ เทียนแดง เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนขาว โกฐเขมา โกศสอ ว่านน้ำ ดอกกานพลู ลูกกระวาน ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ ลูกพิลังกาสา กัญชา
วิธีใช้ : ครั้งละ 1.5 - 2 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ก่อนอาหาร
ข้อควรระวัง
ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้ร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
สามารถอ่านรายละเอียดการทำยาสมุนไพรได้ที่ คู่มือการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน <<<ได้ที่นี่เลย
จะเห็นได้ว่า สมุนไพรไทยแต่ละชนิดมีประโยชน์มากมาย สามารถใช้ได้ทั้งอาการเจ็บไข้ได้ป่วยปกติ และรักษาโควิดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงได้ด้วย อ่านแล้วอย่าลืมหยิบหม้อ หยิบมีดมาเตรียมสมุนไพรกันนะ
ข้อมูลจาก คู่มือการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง