เปิดสรรพคุณ พลูคาว (ผักคาวตอง) ผักพื้นบ้านต้านไวรัส ยับยั้งหวัด เสริมภูมิคุ้มกันก็ได้
นอกจากฟ้าทะลายโจรที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการของโควิด-19 แล้ว วันนี้ trueID จะพามารู้จักสรรพคุณของพลูคาว คาวตอง ผักพื้นบ้านมีฤทธิ์เป็นยา ต้านไวรัสก็ดี ขับปัสสาวะก็ได้ และอีกสารพัดประโยชน์ด้านสุขภาพ สำหรับคนภาคเหนือหรือภาคอีสาน น่าจะรู้จักมักคุ้นกับพลูคาว หรือคาวตอง ผักเคียงที่มักจะกินแกล้มลาบ ลู่ ก้อย เมนูแซ่บ ๆ ทั้งหลาย แต่ทราบกันไหมว่าพลูคาว หรือคาวตอง สรรพคุณทางยาดีมาก ๆ เรามาทำความรู้จักพลูคาว คาวตอง ที่จัดเป็นสมุนไพรมีฤทธิ์ต้านไวรัสกัน
พลูคาว-คาวตอง คืออะไร
พลูคาว หรือคาวตอง คาวทอง เป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือและอีสาน มีกลิ่นคาวทั้งใบและต้น รสชาติคาว ขื่น เผ็ดร้อน พลูคาวจัดเป็นพืชในวงศ์ Saururaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Houttuynia cordata Thunb. ลักษณะโดยทั่วไปเป็นไม้ล้มลุก สูง 15-30 เซนติเมตร ลำต้นกลม รากแตกออกตามข้อ
ใบ เป็นใบเดี่ยวสีเขียว ออกเรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้ารูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาวและโคนเป็นกาบหุ้มลำต้น ออกดอกสีขาวเป็นช่อที่ปลายยอด มีกลีบดอก 4 ใบ โดยทั่วไปจะออกดอกเล็กจำนวนมาก ส่วนผล เป็นผลแห้ง แตกออกได้ ข้างในมีเมล็ดรี ๆ
พลูคาว-คาวตอง สรรพคุณมีอะไรบ้าง
ผักพื้นบ้านอย่างพลูคาว หรือคาวตอง เป็นผักที่มีสรรพคุณทางยา โดยหมอยาตั้งแต่สมัยโบราณก็ให้กินพลูคาว-คาวตองเป็นประจำทุกวัน เสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยในตำรับยาไทยโบราณ พลูคาว หรือคาวตอง มีสรรพคุณ เช่น
- ขับปัสสาวะ
พลูคาวมีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงไต ส่งผลให้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้ โดยใช้ทั้งต้น ประมาณ 30-60 กรัม มาตากแห้งให้ได้น้ำหนักประมาณ 15-30 กรัม แช่น้ำไว้ 1-3 นาที จากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดนาน 5 นาที กรองแล้วดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ นอกจากนี้ ต้นพลูคาวยังแก้บวมน้ำ และแก้การอักเสบติดเชื้อทางปัสสาวะได้ด้วย
- รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน ลมพิษ
นิยมนำต้นพลูคาวสดมาตำละเอียด แล้วพอกรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน ลมพิษ แผลแมลงสัตว์กัดต่อย ผิวหนังอักเสบ ช้ำ บวม และยังไล่หมัด หรือคั้นน้ำมาหมักผมไว้กำจัดเหาก็ได้ ด้วยสรรพคุณที่ช่วยรักษาโรคผิวหนัง แก้ผิวแห้ง แตก หยาบกร้าน จึงมีคนนำพลูคาวมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิว
- รักษาริดสีดวงทวาร
ใช้ต้นสดพลูคาว ล้างสะอาด แล้วนำมาต้มน้ำดื่ม จิบเหล้าเล็กน้อย จากนั้นนำกากพลูคาวไปพอกที่แผลริดสีดวง ทำอย่างนี้ติดต่อกัน 3 วัน หัวริดสีดวงจะค่อย ๆ ยุบไป
- รักษาฝีหนองในปอด
ในตำราพื้นบ้านระบุว่า พลูคาวหรือคาวตองใช้รักษาฝีหนองในปอดได้ โดยใช้ต้นแห้ง 30 กรัม ผสมกับรากแห้ง 15 กรัม ต้มน้ำหรือบดเป็นผงสำหรับผสมน้ำดื่ม
ขณะที่ตำรับยาอื่น ๆ ของหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เนปาล ยังนำพลูคาวมาใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น เพื่อรักษาอาการป่วย ไม่ว่าจะเป็นบรรเทาอาการปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ บิด แก้ไข้ อาหารไม่ย่อย เป็นยาระบาย ลดความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ขับระดู รักษาโรคสตรี ฯลฯ
พลูคาว-คาวตอง ยับยั้งไวรัส ต้านไข้หวัดใหญ่
จากการวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ พบว่า น้ำมันหอมระเหยในพลูคาวสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ และโรคซาร์สได้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสต้นเหตุโรคเริม และไวรัสเอดส์ในหลอดทดลองได้อีกด้วย
ทั้งนี้ หากต้องการกินพลูคาวโดยหวังผลในการป้องกันโรคหวัด เราสามารถกินพลูคาวหรือผักคาวตองสด ๆ เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยของพลูคาวโดยตรง
พลูคาว-คาวตอง ฆ่าโควิด 19 ได้ไหม
อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดพลูคาว หรือคาวตอง ไว้ในกลุ่มผักเสริมภูมิคุ้มกัน โดยระบุว่า ผักพื้นบ้านหลายชนิดที่แม้จะไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคโควิด 19 แต่พบว่ามีสรรพคุณยับยั้งการติดเชื้อไวรัสก่อโรค มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และต้านการอักเสบได้ดี
พลูคาว-คาวตอง กับมะเร็ง
พลูคาวเด่นดังในเรื่องต้านเซลล์มะเร็งเช่นกัน โดยจากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ทั้งในไทยและต่างประเทศ พบว่า พลูคาวมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และยังมีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย พลูคาวหรือคาวตองจึงถูกนำไปผลิตเป็นยาร่วมกับสมุนไพรตัวอื่น ๆ เพื่อใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
นอกจากนี้ในประเทศจีนยังใช้พลูคาวประกอบยาตำรับผงและยาฉีดมะเร็งหลายชนิด โดยพบว่าพลูคาวมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและบรรเทาปวด เทียบเท่ากับยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs และมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถบริโภคผักคาวตองเพื่อหวังผลในการรักษามะเร็งได้
พลูคาว-คาวตอง ควรใช้อย่างไร
เนื่องจากพลูคาวเป็นผักพื้นบ้าน จึงนิยมกินสด ๆ ซึ่งจะได้น้ำมันหอมระเหยของพลูคาวโดยตรง หรือจะกินตามตำรับยาสมุนไพรไทย-จีน ก็ได้ โดยใช้ต้นพลูคาวแห้ง 15-30 กรัม ต้มกับน้ำ แล้วกรองดื่มเป็นชา
ส่วนการรับประทานพลูคาวสกัด หรือคาวตองสกัดในรูปแบบแคปซูลหรือในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม ควรดูวิธีการสกัดพลูคาวหรือคาวตอง รวมไปถึงปริมาณสารสำคัญของพลูคาวในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ให้ดี เนื่องจากการศึกษาวิจัยแต่ละการศึกษา อาจจะใช้วิธีการสกัดของพลูคาวที่แตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ ก่อนจะกินสมุนไพรเพื่อรักษาโรคหรือเสริมสุขภาพก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว หรือกินยาบางอย่างเป็นประจำ เพราะพลูคาวมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ซึ่งอาจไปกระทบกับการทำงานของยาบางตัวที่กินอยู่ได้
พลูคาว-คาวตอง มีผลข้างเคียงไหม
ปกติแล้วหากรับประทานพลูคาว หรือผักคาวตอง ในรูปแบบอาหาร มักจะไม่มีผลข้างเคียงที่น่าเป็นห่วง เพราะปริมาณในการกินพลูคาวจะไม่ค่อยมาก และการกินอาหารแต่ละครั้งเราก็จะกินอาหารที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม การใช้พลูคาวทั้งแบบรับประทานและใช้เป็นยาภายนอก ก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ในบางคน ดังนี้
* คลื่นไส้ อาเจียน
* ถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้หายใจสั้นและถี่ อาจเป็นอันตรายได้
* ในกรณีใช้ภายนอก ก็อาจมีอาการแพ้ที่ผิวหนัง หรือมีแผลพอง
* เสี่ยงนิ่วในไตเพิ่มขึ้น หรือคนป่วยโรคไตก็อาจไตวายเฉียบพลันได้ เพราะออกซาเลตในใบพลูคาวอาจตกค้างในร่างกาย ในกรณีที่กินมากเกินไป
ผักและสมุนไพรใกล้ตัวเรา ล้วนมีประโยชน์และสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราควรเลือกใช้ประโยชน์จากผัก สมุนไพร หรืออะไรก็ตาม อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเราเอง
ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข ,กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, เฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร, เฟซบุ๊ก ชัวร์ก่อนแชร์, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ, ชีวจิต, โรงพยาบาลร้องกวาง