รีเซต

ทรัพย์สินกงสี ! ต้องเสียภาษีอย่างไร

ทรัพย์สินกงสี ! ต้องเสียภาษีอย่างไร
TNN ช่อง16
16 มกราคม 2565 ( 07:30 )
88
ทรัพย์สินกงสี ! ต้องเสียภาษีอย่างไร

ถ้าพูดถึงคำว่า “กงสี” เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้หลายต่อหลายครั้ง โดยบทความในวันนี้จะมาพูดถึง “ทรัพย์สินกงสี” ซึ่งหมายถึงการที่ครอบครัวถือทรัพย์สินส่วนกลางร่วมกัน ในสมัยก่อน 


การถือทรัพย์สินในรูปกงสี เป็นที่นิยมในหลายครอบครัว โดยนิยมใส่ชื่อสมาชิกเพื่อถือครองทรัพย์สินร่วมกัน อาจเป็นชื่อพ่อแม่กับลูก หรือการถือกันระหว่างพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นการถือในรูปบัญชีเงินฝาก หรือที่ดิน 


 ทั้งนี้ก็เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นๆ อย่างเท่าเทียม เพื่อรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว หรือเป็นกลยุทธ์ของพ่อแม่ที่ต้องการให้ทุกคนช่วยกันทำธุรกิจ เลยให้ถือทรัพย์สินร่วมกัน  หรืออยากให้ทรัพย์สินอยู่ในครอบครัวไปนานๆ เพราะเมื่อการขายที่ดินต้องตัดสินใจกันหลายคน จึงไม่สามารถทำได้ง่ายๆ นั่นเอง 


อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่รู้ว่าการถือทรัพย์สินร่วมกัน หรือ ทรัพย์สินกงสีนั้นมักมีประเด็นทางภาษีมาเกี่ยวข้อง และอาจก่อให้เกิดการเสียภาษีซ้ำซ้อนขึ้นได้ ซึ่งภาษีของการถือทรัพย์สินร่วมกันจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีเงินได้เกิดขึ้นจากทรัพย์สินที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป มีชื่อในทรัพย์สินนั้นร่วมกัน 


โดยทางภาษีถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า หสม. ซึ่งจะเป็นคนละกรณีกับการการถือครองทรัพย์สินร่วมกันของสามีภรร ยา ที่ชอบด้วยกฎหมาย ในอดีต มีกฎหมายที่ยกเว้นภาษีสำหรับส่วนแบ่งกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน 


แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีการแก้ไขกฎหมายภาษีและยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าว ทำให้เงินได้ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินที่มีชื่อร่วมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558  จะต้องถูกเรียกเก็บภาษี 2 ระดับ คือระดับของหสม. และระดับของหุ้นส่วน เมื่อมีการแบ่งส่วนแบ่งกำไรกัน 


ยกตัวอย่างทรัพย์สินที่มักมีการถือในชื่อร่วมกัน และมีประเด็นภาษีมาเกี่ยวข้อง ได้แก่ 


1)    เงินลงทุน ซึ่งการเสียภาษีจะขึ้นอยู่กับประเภทเงินได้ 

    ดอกเบี้ยเงินฝาก จะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนอีก เพราะกฎหมายออกมายกเว้นเป็นพิเศษ ว่าหากเลือกถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของ หสม. แล้ว เมื่อมีการแบ่งส่วนแบ่งดอกเบี้ย ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีในระดับหุ้นส่วนอีก 


    เงินปันผล หรือกำไรจากการขาย ในระดับของ หสม. จะต้องเสียภาษีเหมือนบุคคลธรรมดา กล่าวคือ เงินปันผล เลือก หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ได้


    กำไรจากการขายหน่วยลงทุนหรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับยกเว้นภาษีในระดับของหุ้นส่วน แต่หากมีการแบ่งส่วนแบ่งเงินปันผลหรือกำไร ต้องนำเงินปันผลหรือกำไรที่ได้ไปรวมกับภาษีเงินได้ เพื่อเสียภาษีในอัตราภาษีก้าวหน้าของตนด้วย 


2)    อสังหาริมทรัพย์ หากมีเงินได้จากการขายหรือให้เช่า หสม.ต้องเสียภาษีเงินได้จากการให้เช่า ในลักษณะเดียวกันกับกรณีบุคคลธรรมดาให้เช่า และเมื่อมีการแบ่งส่วนแบ่งค่าเช่า ต้องนำเงินส่วนแบ่งที่ได้ไปรวมกับภาษีเงินได้ เพื่อเสียภาษีในอัตราภาษีก้าวหน้าของตนด้วย โดยถือว่าเป็นเงินได้อื่น เช่นกัน


อย่างไรก็ดี กฎหมายยกเว้นภาษี ในกรณีการถืออสังหาริมทรัพย์ร่วมกันที่ได้มาจากการรับให้หรือรับมรดก ในกรณีนี้จะเสียภาษีเพียงระดับเดียว โดยในกรณีของการขาย จะคำนวณเงินได้เฉลี่ยตามส่วนของแต่ละคนและคำนวณภาษีตามส่วนของแต่ละคนแยกจากกัน  


ส่วนกรณีของการให้เช่า จะเสียภาษีเงินได้จากการให้เช่าในระดับของ หสม. เท่านั้น เมื่อมีการแบ่งรายได้ค่าเช่าให้หุ้นส่วนแต่ละคน ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ เพื่อเสียภาษีอีกครั้ง 


จากที่กล่าวข้างต้น จึงสรุปได้ว่า หากไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอื่น ครอบครัวไม่ควรถือทรัพย์สินหรือลงทุนในชื่อร่วม เพราะจะทำให้เสียภาษีซ้ำซ้อน ในกรณีที่ต้องการจัดการทรัพย์สินกงสี ควรพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ และเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียทุกด้านก่อนตัดสินใจ และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านครับ


ที่มา  กสิกรไทย

ภาพประกอบ กสิกรไทย 




ข่าวที่เกี่ยวข้อง