รีเซต

วิกฤต "เลิกจ้าง" เขย่าตลาดแรงงาน บริษัท เทคฯ ผู้นำเลิกจ้าง l การตลาดเงินล้าน

วิกฤต "เลิกจ้าง" เขย่าตลาดแรงงาน บริษัท เทคฯ ผู้นำเลิกจ้าง l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
15 พฤษภาคม 2568 ( 11:47 )
10

การประกาศเลย์ออฟ หรือเลิกจ้างพนักงาน เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายอุตสาหกรรม ข้อมูลล่าสุดจาก เว็บไซต์ เลย์ออฟ ดอท เอฟวายไอ (layoffs.fyi) ที่ติดตามการเลิกจ้าง ได้รายงานตัวเลข ตั้งแต่ต้นปีนี้ จนถึงปัจจุบัน มีพนักงานถูกเลิกจ้างไปแล้ว เป็นจำนวนรวม 59,413 คนจาก 127 บริษัท

ส่วนพนักงานของรัฐที่ถูกเลิกจ้าง โดยหน่วยงานประสิทธิภาพของสหรัฐฯ หรือ หน่วยงาน DOGE ได้เลิกจ้างพนักงานของรัฐไปเป็นจำนวน 61,296 คน และตั้งแต่ต้นปี 2025 มีการเลิกจ้างพนักงานของรัฐบาลกลางทั้งหมดรวม 171,843 คน

ตามรายงานของสื่อเทคโนโลยี เทคครันช์ (TechCrunch) พบว่ากลุ่มบริษัทเทคโนโลยี ยังคงเป็นผู้นำในการเลิกจ้างในปีนี้ โดยเฉพาะในเดือน เมษายน 2025 มีพนักงานในบริษัทเทคโนโลยี ถูกเลิกจ้างหรือกำลังสูญเสียงานของตนเอง เป็นจำนวนกว่า 23,400 คน

รายล่าสุดที่ประกาศในเดือนนี้ คือ ไมโครซอฟต์ มีรายงานข่าวว่าจะเลิกจ้างพนักงานร้อยละ 3 จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 228,000 คน ซึ่งจะกระทบกับตำแหน่งงานราว 7,000 ตำแหน่ง โดยให้เหตุผลในเรื่องการลดต้นทุน แต่บริษัทกลับทุ่มเงินเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) สะท้อนถึงเป้าหมายของไมโครซอฟต์ เอง ที่จะให้ AI เป็นเครื่องยนต์หลักในการเติบโต จึงลดต้นทุนในส่วนอื่น ๆ เพื่อรักษาอัตรากำไร 

ซึ่งการเลิกจ้างของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายนี้ จะครอบคลุมทุกระดับ ทุกพื้นที่ และเป็นการเลิกจ้างครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 2023 ที่มีการเลิกจ้างพนักงานไปจำนวน 10,000 คน

นอกจาก ไมโครซอฟต์ แล้ว ในปีนี้ ยังมียักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอีกหลายรายที่มีการเลิกจ้างไปก่อนหน้า เช่น Meta เจ้าของเฟซบุุ๊ก และอินสตาแกรม มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 3,600 คน Block บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน ของ แจ็ก ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตผู้บริหาร ทวิตเตอร์ เผยเมื่อเดือนที่แล้ว เตรียมเลิกจ้างพนักงานเกือบ 1,000 คน ส่วนอินเทล (Intel) มีแผนจะลดพนักงานลงมากกว่าร้อยละ 20 โดยจะกระทบกับตำแหน่งงานราว 22,000 ตำแหน่ง และ คราวด์สไตรก์ (CrowdStrike) กำลังจะเลิกจ้างพนักงานร้อยละ 5 ของจำนวนพนักงานทั่วโลก หรือประมาณ 500 คน ตามแผนเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัทฯ

ด้านอุตสาหกรรมค้าปลีกในสหรัฐฯ ก็กำลังเผชิญกับการปลดคนครั้งใหญ่ในปีนี้เช่นกัน โดย 4 เดือนแรกของปี มีการลดตำแหน่งงานไปแล้วกว่า 64,000 ตำแหน่ง ทำให้ภาคค้าปลีกกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มเทคโนโลยี

โดยการล้มละลายของบริษัทค้าปลีกหลายรายทำให้เกิดการสูญเสียงานจำนวนมาก เช่น โจแอนน์ แฟบริคส์ (Joann Fabrics) จำนวน 19,000 ตำแหน่ง, ปาร์ตี้ ซิตี้ (Party City) จำนวน 16,000 ตำแหน่ง ขณะที่ บิ๊ก ล็อตส์ (Big Lots) ก็มีการปลดพนักงานไปราว 1,000 คน 

ยังมีอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ อย่าง แอมะซอน (Amazon) อีกด้วย ที่มีแผนเลิกจ้างพนักงานกว่า 14,000 คน คิดเป็นร้อยละ 13 ของพนักงานบริหารทั่วโลก เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน 

นอกจากนี้ การเลิกจ้างยังกระจายอยู่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจขนส่งอย่าง ยูพีเอส (UPS) ที่วางแผนจะเลิกจ้างพนักงานราว 20,000 คนในปี 2025 นี้ โดยอ้างถึงการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าโลก และภาษีศุลกากรที่ทำให้การขนส่งลดลง

รวมถึง สตาร์บัคส์ (Starbucks) เชนร้านกาแฟรายใหญ่ของโลก ได้เลิกจ้างพนักงานออฟฟิศ ไปราว 1,100 คน ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ 

ขณะที่กลุ่มบริษัทบัญชีรายใหญ่ของโลก 4 ราย ที่เรียกว่า บิ๊ก โฟร์ ต่างก็ประกาศเลิกจ้างกันอย่างถ้วนหน้า โดย พีดับบลิวซี (PWC) หรือ ไพร้ซ์ วอเตอร์ เฮ้าส์ คูเปอร์ส มีการเลิกจ้างพนักงานในสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,500 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของพนักงานทั้งหมด ทั้งเป็นการเลิกจ้างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ที่ลดจำนวนพนักงานลงไปแล้วราว 1,800 คน 

รวมถึง เคพีเอ็มจี (KPMG), อีวาย (EY) หรือ เอิร์นส แอนด์ ยัง และ ดีลอยต์ (Deloitte) ก็ประกาศเลิกจ้างในปีนี้เช่นกัน โดยอ้างถึงอัตราการลาออกที่ต่ำ และแรงกดดันต่ออัตรากำไร

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ไม่แพ้กัน มีการประกาศเลิกจ้างกันต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นคิวของ นิสสัน มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น และอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาธุรกิจ โดยประกาศลดจำนวนพนักงานเพิ่มอีกกว่า 10,000 คนทั่วโลก รวมที่ประกาศไปก่อนหน้านี้อีก รวมเป็น 20,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด (ซึ่งรวมในประเทศไทยด้วย)

ยังมี เจเนรัล มอเตอร์ส เลิกจ้างพนักงานจำนวนประมาณ 1,695 คนในโรงงานประกอบรถยนต์ ที่แฟร์แฟกซ์ ในสหรัฐอเมริกา และวอลโว่ (Volvo) เลิกจ้างพนักงาน 125 คนในโรงงานที่ชาร์ลสตัน ในสหรัฐฯ เช่นกัน ส่วน Mercedes-Benz ประกาศการเลิกจ้างแบบสมัครใจ ซึ่งการเลิกจ้างเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของการผลิต และการลดต้นทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

และอีกธุรกิจรายใหญ่ของญี่ปุ่น พานาโซนิค (Panasonic) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดหาชิ้นส่วนแบตเตอรี่หลักให้กับ เทสลา ก็จะลดจำนวนพนักงานทั่วโลกราว 10,000 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 4 ของจำนวนพนักงานทั่วโลกที่มีประมาณ 230,000 คน 

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับโครงสร้างด้านแรงงานครั้งสำคัญในปีนี้ ซึ่งสาเหตุของการเลิกจ้างจากภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ฟอร์บ สรุปไว้ดังนี้

ปัจจัยแรก คือเรื่องภาษีศุลกากรของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก, โลจิสติก์ และภาคการผลิต อย่างเช่น ยูพีเอส (UPS) ให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจน ว่า การเปลี่ยนแปลงในนโยบายการค้าโลก เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานกว่า 20,000 คน

ขณะที่บริษัทอีกหลายแห่ง กำลังปรับกระบวนการการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพและสร้างผลกำไรที่ดีขึ้น เป็นปัจจัยผลักดันให้บริษัทเทค เช่น คราวด์สไตรก์ (CrowdStrike) ลดจำนวนพนักงานลงร้อยละ 5 และมีเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายรายได้ประจำปีที่ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการเลิกจ้างของ พีดับบลิวซี (PwC) มุ่งเป้าไปที่อัตราการลาออกที่่ต่ำ (หมายถึงคนไม่ค่อยลาออกกัน) และยังอ้างถึงแรงกดดันต่อการสร้างผลกำไร ซึ่งการลดจำนวนพนักงานลง จึงเป็นอีกแนวทางในการสร้างผลกำไรของบริษัทให้ดีขึ้น

ส่วนบริษัทเทคโนโลยี กำลังเลิกจ้างพนักงานระดับกลาง และนำทีมที่ขับเคลื่อนด้วย เอไอ หรือทีมที่บริหารตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ และระบบอัตโนมัติที่สามารถเข้ามาทำหน้าที่บางอย่างแทนมนุษย์ได้

และการเผชิญกับภาวะล้มละลายในภาคค้าปลีก และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ที่ทำให้ภาคค้าปลีกต้องปรับตัวเพื่อรักษาความอยู่รอดอย่าง เช่น บิ๊ก ลอต ที่ต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ภาษีศุลกากร และสงครามการค้า อาจเป็นแค่แพะรับบาปสำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่นำแนวโน้มดังกล่าวนี้ มาเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างพนักงาน แต่ในความเป็นจริง บริษัทกำลังปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเปลี่ยนไปใช้ เอไอ และระบบอัตโนมัติแทนแรงงานมนุษย์ 

ส่วนบริษัทเทคโนโลยีอีกหลายราย ประเมินตลาดผิดพลาด และมีการจ้างงานมากเกินไปในช่วงที่ตลาดเฟื่องฟู แต่พอเศรษฐกิจชะลอตัว จึงต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อปรับสมดุล และบางธุรกิจ ก็หวังที่จะสร้างผลประกอบการให้ดูดีขึ้นในสายตาของนักลงทุน เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง