ออสเตรเลียทดสอบจรวดพลังไฮบริดลำแรกของโลกสำเร็จ พร้อมส่งเข้าวงโคจร
TNN ช่อง16
24 ธันวาคม 2565 ( 09:00 )
78
บริษัทจากสองสัญชาติ กำลังร่วมมือพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าน้ำหนักเบา แต่ให้พลังงานสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการพัฒนามา เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ไฮบริดพลังงานเชื้อเพลิง-ไฟฟ้า ซิริอัส (Sirius) ที่จะใช้ในยาน อีริส (Eris) ยานอวกาศจากบริษัทเอกชนของออสเตรเลีย และหากการปล่อยยานดังกล่าวสำเร็จ อีริสจะกลายเป็นยานอวกาศเครื่องยนต์ไฮบริดลำแรกที่สามารถขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้
อีควิปเมค (Equipmake) บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ไฟฟ้าในสหราชอาณาจักร จับมือกับกิลมัวร์ สเปซ (Gilmour Space) บริษัทด้านอวกาศของออสเตรเลีย ซึ่งนับเป็นการจับคู่ที่ลงตัวอย่างยิ่ง โดยทั้งสองบริษัทได้ร่วมออกแบบระบบขับเคลื่อนไฮบริดแบบพิเศษ เพื่อส่งระบบยานอีริสขึ้นไปสู่วงโคจร หนึ่งในนั้นคือการสร้างมอเตอร์ไฟฟ้า และอินเวอร์เตอร์ (ตัวสลับกระแส) ที่ใช้ในจรวดลำนี้ ซึ่งผลิตโดยอีควิปเมคที่เชี่ยวชาญในการลดน้ำหนักจรวด และกิลมัวร์ สเปซที่มุ่งเน้นในด้านการเพิ่มกำลังขับของจรวด ซึ่งทำให้โครงการจรวดที่เริ่มต้นในปลายปี 2020 กลายเป็นรูปเป็นร่างออกมาได้
ทั้งนี้ ทีมพัฒนาได้ทดสอบคุณสมบัติของเครื่องยนต์จรวดซิริอัส (Sirius) ขั้นสุดท้ายเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการปล่อยยานอีริส ในเดือนเมษายน 2023 ที่กำลังจะถึงนี้
สำหรับยานอีริส มีความสูง 23 เมตร มีน้ำหนักกว่า 30 ตัน ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไฮบริด 5 เครื่องที่มีชื่อว่า ซิริอัส (Sirius) ส่วนพลังงานในระบบไฮบริด จะเป็นเชื้อเพลิงแบบแข็ง และตัวออกซิไดเซอร์แบบเหลว (Liquid Oxidizer) ทั้งนี้ ยานอีริส มีระบบการปล่อยแบบสามขั้นตอน ซึ่งหมายความว่า ส่วนขับเคลื่อนของจรวดจะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และในการทดสอบขั้นสุดท้ายพบว่า เครื่องยนต์แต่ละเครื่องสามารถสร้างแรงขับได้ถึง 115 กิโลนิวตัน
เอียน โฟลีย์ (Ian Foley) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอีควิปเมคกล่าวว่า การพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าและอินเวอร์เตอร์ที่มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ และมีความเข้มข้นของพลังงานที่มากเพียงพอ เป็นหนึ่งในโครงการที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นที่สุดที่บริษัทแห่งนี้เคยทำมา
ทั้งนี้ ทีมพัฒนาตั้งใจไว้ว่า จะสร้างการปล่อยจรวดต้นทุนต่ำ แต่ยังสามารถส่งดาวเทียมน้ำหนักเบาขึ้นไปสู่วงโคจรระดับต่ำของโลกได้ โดยพวกเขาเปิดเผยว่า "จรวดพลังไฮบริดที่บริษัทพัฒนาขึ้น จะช่วยให้ประหยัดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าจรวดขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงเหลวและเชื้อเพลิงแข็งแบบเดิมอีกด้วย"
อย่างไรก็ตาม ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กิลมัวร์ สเปซ ตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะสร้างจรวดจรวดขนาดใหญ่ขึ้น และมีความสามารถบรรทุกน้ำหนักสูงถึง 1,000 กิโลกรัมไปสู่วงโคจรระดับต่ำของโลกได้
ที่มาของข้อมูล interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ TechCrunch