ทำไม “ไต้หวัน” ถึงใช้ชื่อ “จีนไทเป” ร่วมชิงชัยในมหากรรมกีฬาโอลิมปิก | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
จีนและไต้หวัน เป็นประเด็นที่โลกจับตามาตลอด ทั้งเรื่องทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สัญชาติ การรับรู้ของประชาชน รวมถึงเรื่องกีฬาด้วย
สหรัฐอเมริกาให้การรับรองทางการทูต (Diplomatic Recognition) ซึ่งกันและกันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 1979 และตัดขาดความสัมพันธ์กับไต้หวัน แน่นอนว่า ในเรื่องทางกีฬา ต้องสั่งห้ามไต้หวันไม่ให้เข้าร่วมแข่งขัน โดยเฉพาะมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) แสดงจุดยืนสวนทางสหรัฐฯ ว่า จะให้การรับรองไต้หวัน เฉพาะในการแข่งขันโอลิมปิกเท่านั้น เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร เราจะมาย้อนดูกัน โดยไม่ตัดสินว่าใครผิดหรือถูก
ทนไม่ไหวทางใครทางมัน
งานศึกษา “These People Never Give Up”: American Debates on the Return of the People’s Republic of China to the Olympic Movement เขียนโดย Austin Duckworth and Jörg Krieger ตีพิมพ์ใน Journal of Olympic Studies ตั้งข้อสังเกตว่า ปกติแล้ว คณะกรรมการโอลิมปิกสากล จะไม่ต่อต้านสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจโลกโดยตรง
และเป็นข้อเท็จจริงว่า รายได้หลักของโอลิมปิกมาจากการสนับสนุนของบริษัทใหญ่ การขายลิขสิทธิ์โฆษณา และการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก โดยแน่นอนว่า ตลาดที่ใหญ่ที่สุดก็คือสหรัฐฯ (ตอนนั้น ปี 1979 จีนยังไม่มั่งคั่งเท่าปัจจุบัน)
การที่สหรัฐฯ รับรองทางการทูตแก่จีน ตามหลักแล้ว IOC หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ก็ควรรับลูกตาม โดยให้การยอมรับจีน และห้ามไต้หวันไม่ให้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน ดังที่ไต้หวันทำมาตั้งแต่ช่วงปี 1956 เพราะในสายตาสหรัฐฯ และจีน ไต้หวันไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศ ตามหลักการ “จีนเดียว” ที่สหรัฐฯ ให้การยอมรับ
แต่ IOC ไม่ได้ทำแบบนั้น 100% พวกเขาออกกฏบัตร “Nagoya Resolution” เพื่อ
เลี่ยงบาลีที่จีนไม่ยอมให้ไต้หวันเข้าร่วมการแข่งขัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
“มติคณะกรรมการบริหาร IOC ได้ความว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) กำกับดูแลโดย คณะกรรมการโอลิมปิกจีน (Chinese Olympic Committee) ธงชาติ เพลงชาติ และสัญลักษณ์ที่ใช้ในโอลิมปิก ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการโอลิมปิกจีนเสนอแก่คณะกรรมการบริหาร IOC”
“ส่วนคณะกรรมการในไทเป (ไต้หวัน) กำกับดูแลโดย คณะกรรมการโอลิมปิกจีนไทเป (Chinese Taipei Olympic Committee) ธงชาติ เพลงชาติ และสัญลักษณ์ที่ใช้ในโอลิมปิก ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการโอลิมปิกจีนไทเปเสนอแก่คณะกรรมการบริหาร IOC นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1980”
หมายความว่า IOC แก้ไขปัญหาด้วยการให้สิทธิเข้าแข่งขันทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน แต่ไต้หวันห้ามใช้ชื่อว่าไต้หวัน แต่ให้เปลี่ยนเป็น “จีนไทเป (Chinese Taipei)” แทน และมีสถานะเข้าแข่งขันในฐานะ “ดินแดนอิสระภายใต้การปกครองของจีน” เช่นเดียวกับฮ่องกง
หรือก็คือ IOC พยายามโอนอ่อนผ่อนตามทั้งสองฝ่ายให้ได้มากที่สุด แต่เรื่องไม่จบเพียงเท่านี้
กีฬาย่อมเป็นกีฬา
ปัญหาที่ตามมาหลังประกาศ Nagoya Resolution คือการลดสถานะของไต้หวันสู่ดินแดนอิสระภายใต้การปกครองของจีน ถ้ายึดตามตัวอักษรตามกฎบัตรดังกล่าว หมายความว่า เพียงแต่มีดินแดน ประชากร การปกครอง และอำนาจอธิปไตย ก็สามารถเข้าแข่งขันโอลิมปิกได้
“มาเก๊า” เป็นหนึ่งในฝ่ายที่ประท้วงเรื่องนี้ เพราะตนนั้นก็มีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากไต้หวันเลย
วิทยานิพนธ์ Nationalism in international politics: The Republic of China's sports foreign policy -making and diplomacy from 1972 to 1981 เขียนโดย Catherine Kai-Ping Lin ตีพิมพ์ในมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เสนอว่า ไต้หวันไม่ได้ยอมรับ Nagoya Resolution และไม่เคยคิดจะยอมรับมาโดยตลอด และได้ยื่นฟ้องร้องต่อ IOC ต่อเนื่อง เนื่องจากไม่พอใจที่ไม่ได้รับสถานะอย่างเป็นทางการในการเข้าแข่งขันโอลิมปิก
เหตุใดไต้หวันจึงอ่อนไหวกับเรื่องนี้ นั่นเพราะ การเข้าแข่งขันโอลิมปิกผ่าน Nagoya Resolution ก็เหมือนกับว่า ตนส่งนักกีฬาแข่งขันในนาม “เทศบาลหรือมลฑลของจีน” มากกว่าที่จะเป็นตัวแทนของไต้หวันจริง ๆ
แต่อีกมุมหนึ่ง การทำเช่นนี้ของ IOC คือความพยายามช่วยเหลือไต้หวันให้มีที่ยืนในโอลิมปิกได้ โดยอยู่ในจุดยืนเป็นกลางกับทุกฝ่าย และไม่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ-จีน โดยตรง โดยยึดหลักการว่า “กีฬาย่อมเป็นกีฬา” แม้จะไม่สามารถตัดขาดเรื่องการเมืองออกไปได้ทั้งหมด
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]
แหล่งอ้างอิง
บทความ Chinese Question in the Olympic Movement: From the Perspective of Taiwan
บทความ Globalization is not a Dinner Party: He Zhenliang and China's 30-Year Struggle for Recognition by the International Olympic Committee