รีเซต

อยู่เมืองร้อน = แก่เร็ว? นักวิจัยชี้ความร้อนเร่งอายุชีวภาพ ทำร่างกายเสื่อมไวไม่ต่างจากสูบบุหรี่

อยู่เมืองร้อน = แก่เร็ว? นักวิจัยชี้ความร้อนเร่งอายุชีวภาพ  ทำร่างกายเสื่อมไวไม่ต่างจากสูบบุหรี่
TNN ช่อง16
21 เมษายน 2568 ( 10:30 )
8

งานวิจัยใหม่จาก USC Leonard Davis School of Gerontology ชี้ว่า การอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนและชื้นจัด เช่น เมืองฟีนิกซ์ สหรัฐอเมริกา อาจทำให้ร่างกายแก่เร็วขึ้นในระดับเซลล์ แม้จะควบคุมปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือรายได้แล้วก็ตาม

ดร. Eunyoung Choi หัวหน้าคณะวิจัยระบุว่า “แค่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีวันที่อากาศร้อนมาก ร่างกายของเราก็จะแก่เร็วขึ้นในเชิงชีวภาพ” โดยผลกระทบจากความร้อนนั้นเทียบได้กับผลของการสูบบุหรี่หรือดื่มหนัก

ทีมนักวิจัยเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้สูงอายุจำนวนกว่า 3,600 คนที่มีอายุตั้งแต่ 56 ปีขึ้นไป แล้วนำไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “epigenetic clock” เพื่อวัดอายุชีวภาพของร่างกาย ซึ่งหมายถึงสภาพที่แท้จริงของร่างกาย ไม่ใช่แค่อายุปฏิทิน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้นบ่อยครั้งมีสัญญาณของความแก่ในระดับโมเลกุลมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนเป็นระยะเวลานาน เช่น หลายเดือนหรือหลายปี ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงคลื่นความร้อนชั่วคราว


ในปีที่ผ่านมา เมืองฟีนิกซ์มีอุณหภูมิสูงกว่า 32°C ยาวนานถึง 188 วัน และสูงเกิน 38°C ถึง 140 วัน ซึ่งนับว่าเป็นความร้อนในระดับเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก

งานวิจัยยังใช้ "ดัชนีความร้อน" (Heat Index) แทนอุณหภูมิเฉยๆ เนื่องจากความชื้นทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ยาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพในการขับเหงื่อลดลงตามวัย

นักวิจัยย้ำว่า ความร้อนส่งผลต่อพันธุกรรมและการแสดงออกของยีนในร่างกาย เมื่อสะสมไปนาน ๆ ก็สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้ ท่ามกลางวิกฤตโลกร้อนและฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เมืองต่าง ๆ ควรเตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยการเพิ่มพื้นที่ร่มเงา การเข้าถึงแหล่งระบายความร้อน และการวางผังเมืองที่เป็นมิตรต่อสุขภาพในระยะยาว

ความร้อนส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?

นอกจากจะทำให้รู้สึกไม่สบาย อากาศร้อนจัดยังส่งผลต่อร่างกายในหลายด้าน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

•    ระบบควบคุมอุณหภูมิทำงานลดลง ผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพในการขับเหงื่อลดลง ทำให้ระบายความร้อนได้ยากขึ้น

•    เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและสมอง

•    ความเครียดระดับเซลล์ (Cellular Stress) จากความร้อนสะสม อาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเชื่อมโยงกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง