รีเซต

เหตุการณ์สำคัญที่น่าติดตามในวงการอวกาศปี 2024

เหตุการณ์สำคัญที่น่าติดตามในวงการอวกาศปี 2024
TNN ช่อง16
26 ธันวาคม 2566 ( 01:08 )
104
เหตุการณ์สำคัญที่น่าติดตามในวงการอวกาศปี 2024

ในช่วงปี 2024 คาดว่าเป็นอีกปีที่วงการอวกาศของโลกเกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่สำคัญ ทั้งในด้านความหน้าก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศ และการสำรวจเพื่อค้นพบใหม่ ๆ รวมไปถึงการมีบทบาทของบริษัทเอกชนที่ทำให้อวกาศกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถรับรู้และเข้าถึงได้มากขึ้น


1. อินเดียส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศ


ประเทศอินเดียนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2024 นี้ อินเดียภายใต้องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) วางแผนเป็นประเทศลำดับที่ 4 ต่อจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน ที่สามารถส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลก โดยใช้เทคโนโลยีจรวดและยานอวกาศที่พัฒนาภายในประเทศตัวเอง นับเป็นความพยายามต่อเนื่องหลายสิบปีของอินเดียเริ่มใกล้ความจริงในอีกไม่ช้า


2. การทดสอบยานอวกาศ Starship ครั้งที่ 3


ในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา บริษัท SpaceX ทดสอบยานอวกาศ Starship ไปแล้ว 2 ครั้ง โดยอีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัท SpaceX เปิดเผยอย่างไม่เป็นทางการว่าการทดสอบครั้งที่ 3 มีขึ้นในช่วงวันสิ้นปี 2023 ถึงปีใหม่ของปี 2024 โดยเป็นการส่งยานขึ้นสู่อวกาศและลงจอดในมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตทดสอบจรวดของบริษัทจะต้องได้รับการอนุมัติจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration - FAA) ซึ่งมีมาตรการที่เข้มงวด และมักจะมีการเลื่อนเพื่อทดทวนมาตรการต่าง ๆ หลายครั้ง


3. ภารกิจ Artemis 2 การส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์


ในปี 2024 เป็นครั้งแรกของมนุษย์ที่เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์นับจากภารกิจ อพอลโล 17 ในปี 1972 โดยภารกิจ Artemis 2 ในครั้งนี้นาซาเลือกนักบินอวกาศ 4 คน เดินทางไปพร้อมกับยานอวกาศ Orion ซึ่งเคยถูกส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์มาแล้วในภารกิจ Artemis 1 เมื่อปี 2022 โดยภารกิจ Artemis 2 มีกำหนดการทำภารกิจทั้งหมด 10 วัน ก่อนเดินทางกลับโลก ภารกิจ Artemis 2 มีความสำคัญต่อภารกิจ Artemis 3 การส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์เดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์ในช่วงปี 2025-2027


4. ยานอวกาศ Parket Solar Probe เดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศรอบนอกของดวงอาทิตย์


ยานอวกาศ  Parker Solar Probe นับเป็นภารกิจแรกที่มนุษย์ส่งยานอวกาศบินเข้าสู่ชั้นบรรยากาศรอบนอกของดวงอาทิตย์ (โคโรนา) ยานสำรวจเดินทางไปยังพื้นผิวดวงอาทิตย์ภายในระยะห่าง 5.9 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับว่าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดตั้งแต่มีการสำรวจดวงอาทิตย์ ภารกิจของยานอวกาศลำนี้ เช่น การสำรวจและกำหนดโครงสร้างและพลวัตของสนามแม่เหล็กที่แหล่งกำเนิดลมสุริยะ สำรวจพลาสม่าฝุ่นใกล้ดวงอาทิตย์และอิทธิพลของมันต่อลมสุริยะและการก่อตัวของอนุภาคพลังงาน ยานมีกำหนดการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม 2024


5. สหรัฐอเมริกาและอังกฤษส่งยานสำรวจขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์


ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายการสำรวจของหลายประเทศ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ที่มีแผนการส่งยานอวกาศลงไปสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์ เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำที่มีความสำคัญต่อการสำรวจอวกาศระยะยาว


ยานสำรวจของสหรัฐอเมริกามีชื่อว่า VIPER มีลักษณะเป็นรถแลนด์โรเวอร์ที่พัฒนาโดยองค์การนาซา โครงสร้างมีขนาดเท่ากับรถกอล์ฟแต่ติดตั้งอุปกรณ์สำรวจด้านวิทยาศาสตร์หลายชิ้น เช่น หัวเจาะพื้นผิวดวงจันทร์ขนาด 1 เมตร เพื่อเก็บตัวอย่างใต้พื้นผิวดวงจันทร์


ยานสำรวจของอังกฤษมีชื่อว่า Lunar Mission One ยานมีลักษณะเป็นยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ติดตั้งหัวเจาะที่สามารถเจาะลึกลงไปใต้พื้นผิวดวงจันทร์ 20 เมตร หรืออาจลึกมากถึง 100 เมตร เพื่อศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับดวงจันทร์ องค์ประกอบของดวงจันทร์และประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยา ซึ่งอาจเผยให้เห็นเบาะแสใหม่เกี่ยวกับระบบสุริยะในยุคแรกเริ่ม



ที่มาของข้อมูล Futuretimeline.net

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง