รีเซต

เจาะ! เฟกนิวส์ "นักเรียนไม่ฉีดไฟเซอร์" พร้อมข้อเท็จจริง ประสิทธิภาพ และ "ผลข้างเคียงไฟเซอร์"

เจาะ! เฟกนิวส์ "นักเรียนไม่ฉีดไฟเซอร์" พร้อมข้อเท็จจริง ประสิทธิภาพ และ "ผลข้างเคียงไฟเซอร์"
Ingonn
8 ตุลาคม 2564 ( 11:15 )
276

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ให้นักเรียน นักศึกษา ทุกสังกัด ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จำนวน 5,048,081 คน เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่มีจำนวน 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัด ตามความสมัครใจของผู้ปกครอง ว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ แต่เมื่อนักเรียนเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์มากขึ้น กลับมีกระแสไม่อยากฉีดวัคซีน เพราะได้รับข้อมูลจาก TIKTOK ว่า เป็นวัคซีนที่อันตราย ไม่ควรฉีด และมีผู้ปกครองกับนักเรียนเป็นจำนวนมาก ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านวัคซีนไฟเซอร์

 

 

กระแส #ไฟเซอร์นักเรียน พุ่งทะยานติดเทรนด์ เนื่องจากมีนักเรียนจำนวนหนึ่งไม่กล้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพราะดูคลิปวิดีโอทางแอปพลิเคชัน TikTok  ที่โพสต์ว่า ไม่อยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์เพราะกลัวเข็ม กลัวเป็นวัคซีนปลอม รวมถึงมีการแชร์ "ผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์" เช่น การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีด ที่เป็นอันตรายจนทำให้คนเริ่มไม่อยากฉีด

 

 

เฟกนิวส์ #ไม่ฉีดไฟเซอร์ 

จากการรวบรวมข้อมูลในโลกออนไลน์ แอป "TIKTOK" พบว่า สาเหตุหลักๆที่ นักเรียนอายุ 12-18 ปี ไม่อยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ มาจากเหตุผล ดังนี้

  • ไม่อยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์เพราะกลัวเข็ม
  • ไม่อยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ตามเพื่อน
  • วัคซีนไฟเซอร์ จะเปลี่ยน DNA ทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์
  • วัคซีนไฟเซอร์ ใครฉีดจะตายในสองปี เป็นวัคซีนล้างเผ่าพันธุ์
  • กลัวจะเป็นวัคซีนปลอม
  • ผู้ปกครองต่อต้านวัคซีนชนิด mRNA เพราะกลัวอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังได้รับเข็มที่ 2
  • เงื่อนไขการเข้ารับการวัคซีน เช่น ห้ามไม่ให้นักเรียนที่ย้อมผมเข้ารับวัคซีน ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนเท่านั้นจึงจะมาฉีดได้ รวมถึงกระแส ผอ.บางโรงเรียนไม่ส่งชื่อนักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีน

 

"ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์" ที่มีการยืนยัน เชื่อถือได้

  • หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 แล้ว จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 สูงถึง 91.3%
  • ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 100%
  • ป้องกันการเสียชีวิต 98-100%
  • ป้องกันการเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลคงที่อยู่ที่ 93%
  • กรณีเป็นไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อลดจาก 75% เหลือ 53%

 

 

วัคซีนไฟเซอร์ใช้กับเด็กอายุเท่าไหร่ได้บ้าง

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (FDA) อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์กับเยาวชนอายุ 12-15 ปีเป็นกรณีฉุกเฉิน และอนุมัติเต็มรูปแบบให้ใช้กับผู้ที่อายุเกิน 16 ปี ปัจจุบันกำลังยื่นคำขอ และส่งข้อมูลการทดสอบวัคซีนกับเด็กให้ทาง FDA พิจารณาเมื่อเดือนที่แล้ว โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 2,268 คน โดยผลการทดสอบชี้ให้เห็นว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลสูงกับประชากรอายุ 5-11 ปี

 

ปัจจุบันราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ให้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป และแนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ให้พิจารณาเลือกฉีดวัคซีนชนิดที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย (อย.) ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นตรงตามอายุที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งขณะนี้มีเพียงวัคซีนชนิด mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์ ที่มีข้อแนะนำให้สามารถฉีดในเด็กได้ ส่วนวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น วัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือชนิดไวรัสเวกเตอร์ ยังไม่มีคำแนะนำการฉีดในเด็ก

 

 

อาการที่ต้องเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์

  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • หมดสติ เป็นลม
  • แน่น/เจ็บหน้าอก
  • หอบ เหนื่อยง่าย
  • ใจสั่น

 

 

ผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์

  • อาการที่พบบ่อย เช่น เจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
  • อาการข้างเคียงเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นเล็กน้อย เช่น บวม แดงในตำแหน่งที่ฉีด
  • อาการข้างเคียงทั้งระบบ เช่น ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  • อาการข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเป็นอาการข้างเคียงที่พบรายงานในอัตราต่ำมาก

 

 

โรคกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจาก "ไฟเซอร์"

  • มีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ได้ แต่พบได้น้อยมาก
  • จะมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือเจ็บเวลาหายใจ ใจสั่น เป็นลม หากมีอาการเหล่านี้ ภายใน 1 สัปดาห์ หรือภายหลังฉีด 1 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์
  • มักพบในเข็มที่ 2 มากกว่า เข็มที่ 1
  • พบเพียง 10-30 รายจาก 1 ล้านโดส 
  • เพศชายที่มีอายุ 12-17 ปี จะมีอัตราการเกิดสูงสุด รองลงมาในช่วงอายุ 18-24 ปี
  • แนวทางการรักษาแบบประคับประคองด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ ยาสเตียรอยด์
  • หากเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ป่วยสามารถหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด
  • ประโยชน์ที่ได้รับจากฉีดวัคซีนมีมากกว่าการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพมากในการป้องกันการเสียชีวิตและโรคต่างๆ รวมถึงการป้องกันไวรัสชนิดใหม่ที่อันตรายกว่า

 

สุดท้าย "วัคซีนไฟเซอร์" ยังเป็นวัคซีนตัวแรก ที่ได้รับการอนุมัติจากต่างประเทศให้ใช้ได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ยังยืนยันด้วยว่า เด็กและวัยรุ่นเป็นกลุ่มอายุที่กําลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดำเนินชีวิต ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในเด็กและวัยรุ่นมากเพียงพอ  

 

นอกจากนั้นแนะนําให้งดออกกําลังกายอย่างหนัก หรือการทํากิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากการฉีดวัคซีน  เนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งพบในอัตราที่ต่ำมาก และในเวลาดังกล่าวนี้หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือ หายใจไม่อิ่ม ใจสั่นหน้ามืดเป็นลมควรรีบไปพบแพทย์ แต่เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรืออัตราการนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด ก็ยังมีความคุ้มค่าในการให้วัคซีนในเด็กอยู่ 

 

 

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , ศ.พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , โรงพยาบาลวิชัยเวช , ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , ศธ.360  , ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ,TNN , TIKTOK

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 



 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง