รีเซต

หมอเฉลิมชัย เผยฉีด "ไฟเซอร์" นาน 5 เดือน ป้องกันติดเชื้อลดลงเหลือ 47%

หมอเฉลิมชัย เผยฉีด "ไฟเซอร์" นาน 5 เดือน ป้องกันติดเชื้อลดลงเหลือ 47%
TNN ช่อง16
6 ตุลาคม 2564 ( 11:34 )
57
หมอเฉลิมชัย เผยฉีด "ไฟเซอร์" นาน 5 เดือน ป้องกันติดเชื้อลดลงเหลือ 47%

วันนี้( 6 ต.ค.64) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

โดยระบุว่า "ความรู้เรื่องCOVID-19 (ตอนที่931) 5 ต.ค. 2564

ฉีดวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็ม ผ่านไป 5 เดือน ป้องกันการติดเชื้อลดลงจาก 88% เหลือ 47%  แต่ป้องกันการนอนโรงพยาบาลคงที่ 88% 

คำถามสำคัญ และประชาชนต้องการคำตอบกันมากคือ เมื่อวัคซีนฉีดแล้วมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการป่วยรุนแรงขนาดนอนโรงพยาบาล ไปได้นานเพียงใด

เริ่มต้นจะมีประสิทธิผล (Vaccine Effectiveness) สูงมาก เช่นวัคซีนของ Pfizer จะเริ่มต้นที่ประสิทธิผล 90% แต่เมื่อผ่านไปหลายเดือน ประสิทธิผลในการป้องกันจะลดลงมากน้อยเพียงใด และจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเวลาห่างจากเข็มสองนานเท่าใด

ขณะนี้มีคำตอบจากรายงานการศึกษาครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำคือ Lancet โดยเป็นการรวบรวมเวชระเบียนของคนจำนวน 3.43 ล้านคน ในช่วง 14 ธันวาคม 2563 ถึง 8 สิงหาคม 2564 ในกลุ่มดังกล่าวนี้

66% หรือ 2.27 ล้านคนได้ฉีดวัคซีน

34% หรือ 1.17 ล้านคน ไม่ได้ฉีดวัคซีน

เมื่อศึกษาเปรียบเทียบ ทั้ง ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ และการเจ็บป่วยหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล พบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อ 5.4% หรือ 1.84 แสนคน และผู้ที่ต้องนอนโรงพยาบาล 0.35% หรือ 12,130 คน

โดยเมื่อคำนวณประสิทธิผลเปรียบเทียบ ระหว่างกลุ่มที่ฉีดวัคซีน และไม่ได้ฉีดวัคซีน สรุปได้ดังนี้

ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ

ที่ 1 เดือนได้ 88% 

ที่ 5 เดือนได้ 47% 

ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 

ที่ 1 เดือนได้ 87% 

ที่ 5 เดือนได้ 88% 

ถ้าแยกเป็นไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ พบว่าในกรณีเป็นไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อลดจาก 75% เหลือ 53% ส่วนประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลคงที่อยู่ที่ 93% 

จึงพอสรุปได้ว่า วัคซีน mRNA ของ Pfizer เมื่อฉีดไปแล้ว 5 เดือน จะยังสามารถป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ดีเท่ากับตอนเริ่มต้นฉีดใหม่ๆ

ส่วนประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ ลดลงไปครึ่งหนึ่ง การพิจารณาว่าจะต้องฉีดเข็ม 3 เมื่อไหร่ จึงต้องอยู่ที่ประเด็นว่า เน้นป้องกันการติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อย หรือเน้นป้องกันการติดเชื้อที่ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล"


ข้อมูลจาก นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ 

ภาพจาก นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ  / AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง