รีเซต

เตรียมตัวก่อนฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" สำหรับนักเรียนอายุ 12-18 ปี

เตรียมตัวก่อนฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" สำหรับนักเรียนอายุ 12-18 ปี
Ingonn
4 ตุลาคม 2564 ( 09:55 )
59.5K

ดีเดย์! 4 ตุลาคม 2564 ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้นักเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดแผนให้นักเรียน นักศึกษา ทุกสังกัด ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จำนวน 5,048,081 คน จะได้รับการฉีดวัคซีนสูตรไฟเซอร์ + ไฟเซอร์ และจะเริ่มฉีดให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่มีจำนวน 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัดก่อนและจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ต่อไป

 

 

ข้อมูลจากองค์การอาหารและยา (อย.) วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป ในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ แคนาดา อินโดนิเซีย ฯลฯ ยังได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ  12 ปีขึ้นไปแล้ว

 

 

วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการ เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการป้องกันในผู้ใหญ่ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็ก ระดับใกล้เคียงกับผู้ใหญ่อายุ 16-25 ปี โดยมีระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก จากภาพรวมข้อมูลด้านประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่มีการฉีดในเด็กพบว่า มีผลดีมากกว่าผลข้างเคียง ซึ่งพบได้ในอัตราที่ต่ำ

 

 

ปัจจุบันในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงซึ่งขณะนี้มีเพียงวัคซีนชนิด mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่มีข้อแนะนำให้สามารถฉีดในเด็กได้ ส่วนวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น วัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือชนิดไวรัสเวกเตอร์ ยังไม่มีคำแนะนำการฉีดในเด็ก

 

 

 

ผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ในเด็ก

 

  • ผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น เจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ

 

  • อาการข้างเคียงเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นเล็กน้อย เช่น บวม แดงในตำแหน่งที่ฉีด

 

  • อาการข้างเคียงทั้งระบบ เช่น ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ

 

  • อาการข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเป็นอาการข้างเคียงที่พบรายงานในอัตราต่ำมาก

 

 

 

อาการที่ต้องเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์

 

เฝ้าระวังอาการหลังฉีดวัคซีนนักเรียนอายุ 12-17 ปี ดังต่อไปนี้

 


1.ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

 


2.หมดสติ เป็นลม

 


3.แน่น/เจ็บหน้าอก 

 


4.หอบ เหนื่อยง่าย

 


5.ใจสั่น

 


*หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

 

เด็กต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีนไฟเซอร์


1.ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนในเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า 

 

 


2.ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 14 วัน ยกเว้นการฉีดวัคซีนที่มีความจำเป็นเช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อเด็กถูกสัตว์กัด

 

 


3.เด็กและวัยรุ่นหญิงที่มีประจำเดือน อยู่ในระยะหลังคลอด หรือให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้

 


4.เด็กและวัยรุ่นที่หายจากโรคโควิด-19 หรือโรคแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19 และโรคคาวาซากิ (MIS-A หรือ MIS-C) ควรเว้นระยะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ห่างจากวันที่ตรวจพบเชื้อ 1-3 เดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยพลาสมา ควรได้รับวัคซีนทันทีเมื่อครบกำหนด 90 วัน

 

 

 

ข้อควรระวัง


1.เด็กและวัยรุ่นที่มีอาการแพ้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงภายหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 หรือแพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคนอย่างรุนแรง ควรรับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อพิจารณาเลื่อนหรือเปลี่ยนชนิดวัคซีนในเข็มที่ 2

 


2.หากเด็กและวัยรุ่นมีประวัติสัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าเด็กจะได้รับการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโรคโควิด-19

 


3.วัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป

 

 

 

วิธีเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน


ตรวจสอบร่างกายให้พร้อม

 

  • ไม่อดนอน หลับให้เพียงพอ
  • เลี่ยงเครื่องดืมชา-กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่มีอาการไข้หรือเจ็บป่วย
  • สองวันก่อนฉีดวัคซีน และหลังฉีดวัคซีน งดออกกำลังกายหนัก

 

 

สิ่งที่ต้องแจ้งแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน

 

  • โรคประจำตัว
  • ประวัติการแพ้ยาหรือวัคซีน
  • การตั้งครรภ์
  • ข้อมูลอื่นๆ ที่แพทย์ควรทราบ

 

 

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนออกจากบ้าน

 

  • บัตรประชาชน
  • วันแวลา นัดการฉีดวัคซีน
  • รักษามาตรการป้องกันพื้นฐานอย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง พกเจลแอลกอฮอล์
  • วันที่ฉีดวัคซีนควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี
  • ฉีดแขนข้างที่ไม่ถนัด และหลังฉีดสองวัน อย่าใช้แขนนั้น หรือยกของหนัก
  • หลังฉีดวัคซีนแล้ว รอดูอาการบริเวณที่ฉีด 30 นาที
  • ถ้ามีไข้หรือปวดเมื่อยมาก สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มก. ครั้งละหนึ่งเม็ด ห่างกัน 6 ชั่วโมง
  • ห้ามกินยาพวก Brufen . Arcoxia , Celebrex เด็ดขาด

 

 

 

นอกจากนี้ทาง หมอพร้อม เชิญชวนน้อง ๆ อายุ 12-17 ปี ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนสมัครใช้งาน หมอพร้อม เพื่อใช้ตรวจสอบข้อมูลการฉีดวีคซีน ประเมินอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ใช้งาน Digital Health Pass ใช้งานได้เเล้วทั้ง LINE OA หรือ Application

 

 

*น้องๆ ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ผู้ปกครอง สามารถลงทะเบียนใช้งานหมอพร้อมแทน โดยวิธีการเพิ่มข้อมูลบุคคลอื่น ผ่าน LINE OA*

 

 

 

เด็กควรฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไหม?


ในกลุ่มเด็ก ที่วัคซีนกลุ่มอื่นยังไม่มีข้อมูลที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่ง mRNA เป็นวัคซีนมีข้อมูลที่สามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีได้ ซึ่งการได้รับวัคซีน 1 ล้านคน ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 1,000 คนและป้องกันการเสียชีวิตได้ 10 กว่าคน เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรืออัตราการนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด ก็ยังมีความคุ้มค่าในการให้วัคซีนในเด็กอยู่ 

 

 

การเกิดการติดเชื้อโควิดไม่ใช่เฉพาะการนอนโรงพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังตามมาด้วย เช่น การเกิดการอักเสบหลอดเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งอาจจะมีผลในระยะยาว ดังนั้นในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

 

 


อย่างไรก็ตามภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สามารถรักษาได้ เคสส่วนมากที่มีอาการ สามารถรักษาและหายเป็นปรกติในไม่กี่วัน และส่วนมากไม่มีใครเสียชีวิตจากภาวะนี้

 

 

 

ข้อมูลจาก ศ.พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , ศธ.360 , ไทยรู้สู้โควิด

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง