รีเซต

ทำความเข้าใจ วัคซีน mRNA “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” เสี่ยง “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” ควรฉีดไหม?

ทำความเข้าใจ วัคซีน mRNA “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” เสี่ยง “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” ควรฉีดไหม?
Ingonn
16 กันยายน 2564 ( 13:59 )
1.4K

วัคซีนไฟเซอร์ และ วัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ไทยได้นำเข้ามาจากต่างประเทศ และได้ให้บริการฉีดแก่ประชาชนไปแล้ว โดยเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่คนไทยได้ฉีดฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยล่าสุดทางภาครัฐ อนุมัติให้ใช้ฉีดกับเด็กนักเรียนที่อายุ 12-17 ปี แล้ว แต่ยังคงมีหลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ และ วัคซีนโมเดอร์นา ว่าอาจทำให้เสี่ยงเป็น “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ”

 

 

 

สำนักงานอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐฯ ได้เพิ่มคำเตือนในเอกสารกำกับยาเพื่อแจ้งให้ผู้ป่วยและผู้ให้บริการวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) และโมเดอร์นา (Moderna) เสี่ยงการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) หลังจากรับวัคซีนเข็มที่ 2 และผลข้างเคียงนี้มักเกิดขึ้นภายใน 2-3 วันหลังรับวัคซีน     

 

 

 

ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า มากกว่า 1,200 คน มีภาวะอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และผู้ชายจะมีอาการดังกล่าวมากกว่าผู้หญิง  มีผลข้างเคียงจากการเข้ารับวัคซีน เช่น ภาวะเมื่อยล้าและเจ็บหน้าอกชนิดไม่รุนแรง ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณของภาวะอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการรับวัคซีนโควิดส่วนใหญ่หายเป็นปกติแล้ว และว่าแม้จะพบความเชื่อมโยงเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบกับการรับวัคซีนโควิด แต่ประโยชน์ของวัคซีนก็ยังมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในตอนนี้

 

 

 

วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” หลังฉีดวัคซีนโมเดอร์นา หรือ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แม้จะมีผลข้างเคียง แต่ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

 

 

 

ทำความเข้าใจ ภาวะ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ”


กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) เป็นภาวะที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจจากสาเหตุต่างๆ ทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆลดลง และยังมีผลให้การนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่คาดว่าตัววัคซีนโควิด-19 หรือสารประกอบ อาจทำให้ภูมิต้านทานของเราไปทำร้ายกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่พบได้น้อยมาก 

 

 

ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA ประมาณเฉลี่ย 12 คนต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านคน โดยจะพบมากในกลุ่มอายุน้อย อายุต่ำกว่า 30 ปี ยิ่งอายุน้อยมากเท่าไหร่ อุบัติการณ์ที่พบก็จะสูง และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงหลายเท่าตัว มักแสดงอาการภายใน 7 วัน หลังฉีดวัคซีน

 

 

 

กลุ่มเสี่ยง “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” มีใครบ้าง


1.กลุ่มวัยรุ่น อายุน้อย โดยมีอายุระหว่าง 12-30 ปี

 


2.ผู้ชายอายุน้อย ความเสี่ยงอาจจะมาก

 


3.ผู้หญิงหรือวัยรุ่นตอนปลาย ความเสี่ยงน้อย แต่อาจพบได้

 


4.พบในโดสที่ 2 มากกว่า โดสแรก

 

สำหรับในผู้ใหญ่ ความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น ต่ำมากๆ ไม่ถึง 1 ในล้าน จนแทบไม่ต้องกังวลผลข้างเคียงภาวะนี้

 

 


อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ


- เจ็บหน้าอก

 


- เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง หายใจสั้นลง

 


- ใจสั่น ใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ

 


- อ่อนเพลีย

 


- ขาบวม เท้าบวม นอนราบไม่ได้ ถ้ามีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย

 


- มีไข้ ปวดตามตัว ในกรณีที่สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ

 


- ถ้าอาการรุนแรงอาจจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือช็อคได้

 


หากมีอาการเหล่านี้ (โดยเฉพาะภายใน 2 สัปดาห์) ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ

 

 

จากรายงานพบว่า ผู้ที่มีภาวะนี้ (ผลข้างเคียงจากวัคซีน) มากกว่า 95% มีอาการค่อนข้างน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย ที่ตรวจพบได้จากการเจาะเลือดหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานของการเสียชีวิตจากการเกิดภาวะนี้

 

 

 

เด็กควรฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไหม หรือโมเดอร์นาไหม?


ในกลุ่มเด็ก ที่วัคซีนกลุ่มอื่นยังไม่มีข้อมูลที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่ง mRNA เป็นวัคซีนมีข้อมูลที่สามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีได้ ซึ่งการได้รับวัคซีน 1 ล้านคน ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 1,000 คนและป้องกันการเสียชีวิตได้ 10 กว่าคน เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรืออัตราการนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด ก็ยังมีความคุ้มค่าในการให้วัคซีนในเด็กอยู่ 

 

 

การเกิดการติดเชื้อโควิดไม่ใช่เฉพาะการนอนโรงพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังตามมาด้วย เช่น การเกิดการอักเสบหลอดเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งอาจจะมีผลในระยะยาว ดังนั้นในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

 

 


อย่างไรก็ตามภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สามารถรักษาได้ เคสส่วนมากที่มีอาการ สามารถรักษาและหายเป็นปรกติในไม่กี่วัน และส่วนมากไม่มีใครเสียชีวิตจากภาวะนี้

 

 

ข้อมูลจาก อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์สาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , โรงพยาบาลสินแพทย์ , TNN

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง