รีเซต

รู้จัก “การฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง” ได้ภูมิคุ้มกันสูง ประหยัด "วัคซีนโควิด" ได้มาก 5-10 เท่า

รู้จัก “การฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง” ได้ภูมิคุ้มกันสูง ประหยัด "วัคซีนโควิด" ได้มาก 5-10 เท่า
Ingonn
11 สิงหาคม 2564 ( 09:43 )
342

 

ในช่วงนี้เราจะเห็นคุณหมอได้ออกมาพูดถึงการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังกันมากขึ้น โดยคุณหมอส่วนใหญ่มักบอกว่า สามารถได้ภูมิคุ้มกันโรคได้สูง และประหยัดได้มากถึง 5-10 เท่า หรือเทียบเป็นจำนวนคน จากฉีดวัคซีนได้ 10 ล้านคนจะกลายเป็น 50-100 ล้านคนได้เลยทีเดียว ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ได้อย่างดี ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก และวัคซีนโควิดของเราก็ยังมีไม่เพียงพอ

 

 

วันนี้ TrueID จะพามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งเคยมีประเทศที่ใช้วิธีฉีดลักษณะนี้ และได้ผลดี เผื่อเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนมากขึ้น

 

 


รู้จักการฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง (intradermal หรือ ID)


การฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังเป็นการนำวัคซีนผ่านเข้าไปเพียงแค่ในหนังเท่านั้น วัคซีนที่ฉีดเข้าในหนังเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น หากใช้แอลกอฮอล์เช็ด ต้องรอให้แห้งก่อนจึงจะฉีด 

 


เทคนิคการฉีดควรดึงหนังบริเวณที่ฉีดให้ตึง ค่อย ๆ แทงเข็มลงไปทำมุมประมาณ 15 องศา แล้วดันวัคซีนเข้าไป ถ้าเทคนิคถูกต้องจะเห็นว่าเมื่อดันวัคซีนเข้าไปจะมีตุ่มนูนขึ้นมาให้เห็นชัด ต้องให้มือนิ่งมากที่สุด เพราะวัคซีนอาจรั่วซึมออกมาได้หากปลายเข็มแทงทะลุออกมานอกผิวหนัง 

 

 

วิธีการนี้ใช้เมื่อต้องการลดแอนติเจนลง ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดีเพราะกระตุ้นเซลล์ในผิวหนังและดูดซึมไปยังท่อน้ำเหลือง กระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์เป็นสื่อได้ดี ใช้วัคซีนปริมาณน้อย การฉีดทำได้ยากต้องอาศัยความชำนาญ วัคซีนที่ให้ทางนี้ ได้แก่ วัคซีน BCG วัคซีนพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

 

 

ภาพการวางตำแหน่งเข็มและความลึกของการแทงเข็มฉีดเข้าในหนัง จาก สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

 

 

การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง เริ่มต้นในปี 1987 โดยคนไทยเองแก้ปัญหาวัคซีนไม่พอสำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง โดยใช้ปริมาณ 0.1 ซีซี แทนที่จะใช้ 0.5 ซีซี หรือ 1.0 ซีซี (แล้วแต่ยี่ห้อ) เข้ากล้าม (intramuscular หรือ IM) กำหนดให้มีความแรงของวัคซีนที่ชัดเจนและนำไปสู่การใช้ในประเทศไทยในปี 1988 

 

 

จนกระทั่งในปี 1991 ได้นำเสนอต่อองค์การอนามัยโลกเป็นยอมรับใช้กันทั่วโลก และการประชุมล่าสุดในปี 2017 ยังเป็นที่รับรองจนถึงปัจจุบันโดยได้ผลเท่ากันทั้งการกระตุ้นภูมิ (immunigenicity) และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค (efficacy) 

 

 


เนเธอร์แลนด์ ฉีดโมเดอร์นา เข้าผิวหนังแล้ว


นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ทีมนักวิจัยจากเนเธอแลนด์ ได้ทำการศึกษากับอาสาสมัครจำนวนเพียง 30 กว่าคน โดยทำการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา เข้าที่ชั้นผิวหนัง (intradermal injection: ID) จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ แทนที่จะฉีดเข้ากล้าม จำนวน 2 เข็ม และห่างกัน 4 สัปดาห์เท่ากัน

 

 

จากนั้น ได้วัดระดับแอนติบอดี เมื่อฉีดครบแล้ว 2 สัปดาห์ พบว่าระดับ anti-spike และ anti-RBD สูงเทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้าม โดยที่ผลข้างเคียงแทบไม่ต่างจากการฉีดเข้ากล้าม

 

 

 

ข้อดีของการฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง


การฉีดวัคซีนแบบนี้ จะใช้วัคซีนน้อยกว่า เช่น ถ้าฉีด 20 ไมโครกรัม จะแบ่งฉีดได้ 5 คน และถ้าใช้แค่ 10 ไมโครกรัม จะแบ่งฉีดได้ถึง 10 คน ถ้าทำการศึกษาในกลุ่มคนจำนวนมากขึ้น แล้วผลยืนยันไปทางเดียวกัน เราจะแก้ปัญหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงไม่พอได้เลย 

 

 

ยกตัวอย่างกรณี วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer vaccine) 20 ล้านโดส แทนที่จะฉีดได้แค่ 10 ล้านคนจะกลายเป็น 50-100 ล้านคน ซึ่งการฉีดแบบนี้ฝึกไม่ยากด้วย เนื่องจากเราเคยฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง intradermal กับยาและวัคซีนหลายชนิดมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว

 

 

นอกจากนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเพิ่มเติมอีกว่า หากมีจำนวนวัคซีนถึง 1,000,000 โดส และฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง จะทำให้ฉีดได้มากขึ้นเป็น 5-10 ล้านโดส เลยทีเดียว และภูมิคุ้มกันจะเริ่มขึ้นเร็ว ตั้งแต่วันที่ 10-14 หลังจากฉีดวัคซีน โดยไม่ต้องรอ ระยะเวลาการฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน หรือ 2 เดือน อีกแล้ว

 

 


นำมาปรับใช้กับวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างไร


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แนวทางที่น่าจะเป็นได้ มีดังนี้

 


1.คนเสี่ยงสูงสุดที่ได้ซิโนแวคเข้ากล้ามเนื้อ (IM) ไปแล้วสองเข็มต่อด้วยฉีดวัคซีนแอสตร้าเข้าผิวหนัง (ID) 1 จุด 0.1 ซีซี เริ่มมีข้อมูลแล้วและสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์ต่างๆได้

 

 

2.คนทั้งประเทศปรับเปลี่ยนเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (ID) ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อตาย หรือชนิดอื่น โดยอ้างอิงจากรายงานของเนเธอร์แลนด์ที่แสดงว่าการฉีดเข้าชั้นผิวหนังของวัคซีน mRNA ในปริมาณน้อยกว่าธรรมดา 5 ถึง 10 เท่า (10 หรือ 20 ไมโครกรัม) แทนที่จะเป็น 100 แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขน (IM) ก็ได้ผลเช่นกัน

 

 

3.คนที่ได้รับการฉีดแบบเข้ากล้าม หรือ IM ไปแล้ว ฉีดให้ครบสูตรทั้งสองเข็ม ไม่สลับ IM ID ในเข็ม 1 และ 2 แต่กระตุ้น เข็ม 3 เป็น ID ได้ เช่นเดียวกันคนที่ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ID ก็ต้องฉีดเข้าชั้นผิวหนังตลอดทั้งเข็มหนึ่งและเข็มสอง

 

 

 

อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ ยังเป็นเพียงแนวคิดจากแพทย์ผู้ชำนาญการ ที่แนะแนวทางให้ไทยมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกัน และสามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่ทางสาธารณสุขอนุมัติใช้ พร้อมเตือนว่า “อย่าให้สายไปมากกว่านี้” เพราะวัคซีนก็ไม่เพียงพอ ต่อสถานการณ์โควิดที่รุนแรง

 

 

 

ข้อมูลจาก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha , มานพ พิทักษ์ภากร , สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง