รีเซต

รวม "ยารักษาโควิด-19" ที่ทั่วโลกใช้ ไม่มีแค่ "ยาฟาวิพิราเวียร์" หรือ "ยาโมลนูพิราเวียร์"

รวม "ยารักษาโควิด-19" ที่ทั่วโลกใช้ ไม่มีแค่ "ยาฟาวิพิราเวียร์" หรือ "ยาโมลนูพิราเวียร์"
Ingonn
7 ตุลาคม 2564 ( 19:09 )
572

ความหวังใหม่ของโลกที่ไม่ใช่แค่ "วัคซีนโควิด-19" ก็คงเป็น "ยาต้านไวรัส" หรือ "ยารักษาโควิด-19" ที่จะมาช่วยให้โรคนี้รักษาหาย หรือสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้ ปัจจุบันทั้งไทยและต่างประเทศ ได้วิจัยยารักษาโควิด-19 เป็นจำนวนมาก เพื่อใช้รักษาและลดจำนวนผู้ป่วยลง วันนี้ TrueID จึงได้รวบรวมยาต้านไวรัสโควิด ที่คุณเคยรู้จัก หรืออาจไม่เคยรู้จักมาก่อน มาฝากทุกคน จะมียาอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

 

 

ยารักษาโควิด-19 ที่อนุมัติใช้แล้ว

 

"Regdanvimab (CT-P59)" 

Celltrion บริษัทผลิตยารายใหญ่ของเกาหลีใต้ ทดลองยารักษาโควิด REGDANVIMAB (CT-P59) เป็นยารักษาโควิดที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาของเกาหลี (MFDS) ลดการพัฒนาของผู้ติดเชื้อไปเป็นผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนการรักษาในโรงพยาบาลได้ประมาณ 54% แต่ยาสามารถลดอาการของผู้ติดเชื้อที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปีเกือบทั้งหมดได้ถึง 68% ให้ยาด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือดดำเพียงครั้งเดียว

 

 

ยารักษาโควิด-19 ที่อนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉิน

 

"ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)"

ยาเรมเดซิเวียร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ผลิตโดยบริษัท กิลีด ไซน์ และจำหน่ายภายใต้ชื่อทางการค้าว่า เวอคูรี่ โดยเป็นยาที่ให้ทางเส้นเลือดดำ นอกจากนี้ยาเรมเดซิเวียร์ใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกราย โดยงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ตัวยาไม่สามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ แต่จะทำให้การฟื้นตัวจากโรคได้เร็วขึ้นเมื่อให้ยากับผู้ป่วยที่มีอาการอย่างรวดเร็ว โดยทางสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกคำแนะนำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่าสามารถให้ยาเรมเดซิเวียร์กับผู้ป่วยที่ใช้ออกซิเจน ในขณะที่องค์การอนามัยโลกออกคำแนะนำการใช้ยาดังกล่าวว่า ควรใช้เพื่อการทดลองทางคลินิคเท่านั้น

 

 

"แบมลานิวิแมบ (bamlanivimab)"

ยาแบมลานิวิแมบ ซึ่งร่วมพัฒนาโดย อีไล ลิลลี่ บริษัทยาสัญชาติอเมริกัน และ แอบเซลเลรา (AbCellera) และเป็นยารักษาจำพวกสารภูมิต้านทานโมโนโคลน หรือ สารภูมิต้านทานจากโคลนของเซลล์เดียว เพื่อใช้สู้กับไวรัสในร่างกาย เป็นยาสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่มากหรือปานกลาง จะใช้ไม่ได้ผลกับผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยขั้นรุนแรง

 

 

"Baricitinib"

องค์กรควบคุมมาตรฐานยาส่วนกลางของอินเดีย (CDSCO) อนุมัติใช้ยาเม็ด Baricitinib ซึ่งเดิมกำหนดให้ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ของบริษัท Natco Phrama ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยใช้ยา Baricitinib ปริมาณ 1, 2 และ 4 มิลลิกรัม ร่วมกับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivi) ในการรักษา

 

 

"Casirivimab (REGN10933) และ Imdevimab (REG10987)"

ยาทั้งสองชนิด เป็นยาที่พัฒนาโดย Regeneron สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 18 ปี) หรือ อายุตั้งแต่ 12 ปีที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป และมีความเสี่ยงสูง ซึ่งควรได้รับยาทันทีหลังจากที่ตรวจพบเชื้อ และภายใน 10 วันหลังจากเริ่มมีอาการของการติดเชื้อโควิด-19

 

 

"โซโตรวิแมบ (Sotrovimab)"

โซโตรวิแมบ เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ต่อต้านโปรตีนหนามของโควิด-19 โดยเฉพาะ โดยมีการทดลองทางคลินิกระยะ 3 พบว่า เหมาะกับผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคโควิด-19 ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนัก

 

 

"โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab)"

โทซิลิซูแมบ หรือยารักษาโรคไขข้อรูมาตอยด์ ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ด้วย หลัง FDA อ้างอิงการศึกษาประสิทธิภาพของโทซิลิซูแมบในการรักษาโควิด-19 ในผู้ป่วยโรงพยาบาลมากกว่า 5,500 รายที่พบว่า โทซิลิซูแมบช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้

 

 

ยารักษาโควิด-19 ที่ผ่านการทดลองทางคลินิกแล้ว

 

โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)

โมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานออกฤทธิ์ต้านไวรัส พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งระงับการเกิดอาการโควิดระยะยาว ที่เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางคนที่ไม่พบเชื้อในร่างกาย โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อไวรัสที่จะแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนได้เกือบทุกสายพันธุ์ของโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม เดลตา แกมมา หรือมิว ก็พิสูจน์ว่ายับยั้งการเพิ่มจำนวนได้ คนไข้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงนอน รพ.ได้ 50% และไม่มีผู้เสียชีวิต

 

 

PF-07321332 ไฟเซอร์

ยา PF-07321332 เป็นยาจาก บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์. และ เมอร์ค แอนด์ โค อิงค์. ของสหรัฐอเมริกา  เป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ในรูปของยาเม็ดในผู้ป่วยโควิดที่แสดงอาการ แต่ยังไม่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

 

 

ยารักษาโควิด-19 ที่ใช้และทดสอบไปพร้อมกัน / กำลังทดลอง

 

AZD7442

ยา AZD7442 จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เป็นการรักษาด้วยแอนติบอดีเพื่อป้องกันอาการรุนแรงของโรคโควิด-19 สามารถลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงลงได้ถึง 77%

 

 

"ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)"

ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ต่อมาพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากการเก็บข้อมูลในไทยพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีความปลอดภัยและช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้ ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ (ฟาเวียร์) ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

 

 

"ยาไอเวอร์เม็คติน (Ivermectin)"

ยาไอเวอร์เม็คติน เป็นยาฆ่าพยาธิในกระเพาะและลำไส้ พยาธิในปอด โรคพยาธิหัวใจ ปัจจุบันมีทะเบียนตำรับสำหรับสัตว์ประมาณ 200 ทะเบียน และมีทะเบียนตำรับยาที่ใช้สำหรับมนุษย์เพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย อยู่ 2 ทะเบียน ซึ่งทั้ง 2 ทะเบียนจัดเป็นยาอันตราย และอยู่ในบัญชีรายการยากำพร้า ซึ่งเป็นยาที่มีการใช้ค่อนข้างน้อย


ขณะที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการสนับสนุนการใช้ยาไอเวอร์เม็คติน สำหรับการป้องกัน หรือการรักษาโควิด-19 ในสหภาพยุโรป แต่ให้ใช้ในการศึกษาทางคลินิกเท่านั้น เนื่องจากมีผลการศึกษาระบุว่ายานี้สามารถป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ และการใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกตินี้ อาจส่งผลให้เกิดความเป็นพิษที่สูงขึ้นได้ เช่น เกิดความดันเลือดต่ำ อาการแพ้ วิงเวียนศีรษะ ชัก หรือโคม่าถึงแก่ชีวิตได้ EMA จึงไม่ให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

 

 

"เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone)"

เดกซาเมทาโซน เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) ใช้ ในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง สามารถช่วยอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 ได้

 

 

"ยาแอกเทมรา (Actemra) และยาเคฟซารา (Kevzara)"

ยาแอกเทมรา (Actemra) ของโรช บริษัทเวชภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์ และยาเคฟซารา (Kevzara) ของซาโนฟี บริษัทเวชภัณฑ์ของฝรั่งเศส ที่เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบ เป็นยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ผลการวิเคราะห์ ระบุว่า ความเสี่ยงจากการเสียชีวิตในรอบ 28 วัน ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยารักษาโรคข้ออักเสบ มีอัตราร้อยละ 21 ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบทั่วไปที่มีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 25 

 

 

"ยาโคลชิซิน (Colchicine)" 

ยาโคลชิซิน มักใช้ในการรักษาโรคเกาต์ นักวิจัยในบราซิลพบว่า สามารถลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ได้มากกว่า 20% ยานี้สามารถลดการตอบสนองต่อการอักเสบในร่างกาย และช่วยขจัดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเซลล์ผนังหลอดเลือด การใช้โคลชิซินยังช่วยลดความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยออกซิเจน ซึ่งไม่เพียงดีต่อตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและความจำเป็นในการใช้เตียงในโรงพยาบาลอีกด้วย

 

 

"ยาคลอโรควิน (Chloroquine)"

ยาคลอโรควิน เป็นยากลุ่มใช้รักษาและป้องกันโรคมาลาเรีย และมีฤทธิ์ต้านกระบวนการอักเสบ ใช้รักษาความผิดปกติจากโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และมีผลการศึกษาพบว่ามีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แต่นักวิจัยบางรายมองว่า ไม่มีผลต่อความเสี่ยงของการเสียชีวิตและอาจไม่มีผลต่อการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าเมื่อเทียบกับยาหลอก แต่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงน้อยมาก จึงไม่ควรทำการศึกษาเพิ่มเติม

 

 

“Leronlimab”

Leronlimab ผลิตโดยบริษัท CytoDyn เป็นยาที่อาศัยสารยับยั้งการติดเชื้อไวรัสที่มีเป้าหมายต่อเชื้อเอชไอวีและมะเร็งเต้านมเป็นหลัก ปัจจุบันอยู่ในการทดลองใช้งานกับผู้ป่วยโรคโควิด-19  

 

 

"Lopinavir/Ritonavir"

เป็นยาต้านไวรัส HIV มีความพยายามนำเอายาชนิดนี้มาใช้ในการรักษาโควิด-19 โดยใช้เป็นยาชนิดเดียวและได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลประเทศจีนให้สามารถนำมาใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานการวิจัยที่สนับสนุนความเป็นไปได้ของประสิทธิผลการรักษาด้วยยา

 

 

"เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone)"

เมทิลเพรดนิโซโลน เป็นยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่นำมาใช้ต้านการอักเสบหรือกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่สามารถป้องกันการอักเสบเนื่องมาจากโควิด-19 ได้

 

 

"ยาสแตติน (Statin)" 

ยาสแตติน เป็นเป็นกลุ่มยาที่ใช้ลดระดับคอเลสเตอรอล มีการวิจัยจากประเทศจีนว่า อาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ลดการอักเสบ และชะลอการลุกลามของอาการบาดเจ็บที่ปอด  

 

 

บนโลกนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์และแพทย์อีกเป็นจำนวนมากที่กำลังพยายามผลิต "ยารักษาโควิด-19" เพื่อมาต่อสู้กับโรคร้ายที่ระบาดหนัก ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก แต่แนวทางที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ระหว่างรอยารักษาที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการยับยั้งเชื้อโควิด

 

 

ข้อมูลจาก thaiherald.com , creatrip.com , voathai.com , hfocus , thecoverage , กระทรวงสาธารณสุข , givemeref.in.th , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  , PPTV  , TNN ,

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง