รีเซต

รายงานคุณภาพอากาศปี 2023 มีเพียง 7 ประเทศที่ผ่านมาตรฐาน WHO !

รายงานคุณภาพอากาศปี 2023 มีเพียง 7 ประเทศที่ผ่านมาตรฐาน WHO !
TNN ช่อง16
25 มีนาคม 2567 ( 00:04 )
24
รายงานคุณภาพอากาศปี 2023 มีเพียง 7 ประเทศที่ผ่านมาตรฐาน WHO !

รายงานจากองค์กรคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ (IQAir) ชี้ว่าในปี 2023 มีเพียง 7 ประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการจัดการ PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว ที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ รายงานนี้วิเคราะห์ข้อมูลจากสถานีตรวจสอบที่มีมากกว่า 30,000 แห่งใน 134 ประเทศทั่วโลก


7 ประเทศที่ผ่านมาตรฐานการจัดการ PM2.5 ทั่วโลกได้แก่ ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เกรเนดา ไอซ์แลนด์ มอริเชียส และนิวซีแลนด์ 


ในขณะที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับปัญหา PM2.5 อย่างรุนแรง พบว่า 92% ของทั่วโลกเผชิญกับคุณภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองเกินระดับที่ WHO แนะนำ ประเทศในเอเชียใต้เผชิญปัญหานี้อย่างหนัก โดยเฉพาะ บังคลาเทศ ปากีสถาน และอินเดีย ที่คุณภาพอากาศมีฝุ่นละอองเกินระดับที่ WHO แนะนำอย่างน้อย 10 เท่า ซึ่ง 5 ประเทศที่มีปัญหามลพิษสูงที่สุดในโลก ได้แก่ บังกลาเทศ (79.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สูงกว่าค่ามาตรฐานของ WHO 15 เท่า ตามมาด้วยปากีสถาน (73.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) อินเดีย (54.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ทาจิกิสถาน (49.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ บูร์กินาฟาโซ (46.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)


ด้านประเทศไทย ติดอันดับประเทศที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดอันดับที่ 36 ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ตามลำดับ


แฟรงค์ แฮมเมส (Frank Hammes) ซีอีโอของ IQAir Global กล่าวว่า “PM2.5 แทรกซึมทุกเซลล์ในร่างกายของเรา ส่งผลกระทบต่อทุกอย่างตั้งแต่ผิวหนังไปจนถึงปอดและสมอง” และประมาณการว่า มลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 6.7 ล้านคนต่อปี


ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิด PM2.5 องค์กรได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไฟป่าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ส่วนประเทศในยุโรปตะวันตก พบว่าระดับมลพิษดีขึ้น เนื่องจากมีประหยัดการใช้ไฟฟ้าขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาด้านกระบวนการขนส่ง ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ ภูมิอากาศแย่ลง 


ทั้งนี้ ผู้เขียนรายงานชี้ว่าปัญหามลพิษเป็นปัญหาข้ามพรมแดน ส่งผลกระทบไปทั่ว แม้กระทั่งประเทศที่กำลังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 


รายงานของ IQAir ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับการดำเนินการระดับโลกร่วมกันเพื่อแก้ไขวิกฤตคุณภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศต่างๆ จัดการกับความซับซ้อนของการควบคุมมลพิษและการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพของผู้คนนับล้านก็ตกอยู่ในความสมดุล โดยเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายและประชาชนให้ความสำคัญกับอากาศที่เราทุกคนแบ่งปันกัน


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, IQAir

ที่มารูปภาพ GettyImages

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง