รีเซต

เสียงสะท้อนของสังคม! จากเหตุสลด 'หมอกระต่าย' เสียชีวิต หวังปลุกจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัย

เสียงสะท้อนของสังคม! จากเหตุสลด 'หมอกระต่าย' เสียชีวิต หวังปลุกจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัย
TeaC
24 มกราคม 2565 ( 12:44 )
785
1
เสียงสะท้อนของสังคม! จากเหตุสลด 'หมอกระต่าย' เสียชีวิต หวังปลุกจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัย

ข่าววันนี้ หมอกระต่าย คือใคร? ชื่อนี้อยู่ในใจทั้งที่ไม่รู้จักกัน หลังข่าวเหตุสลด รถจักรยานยนต์ "บิ๊กไบค์" ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย เสียชีวิต ซึ่งเธอเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข่าวดังกล่าวกลายเป็นที่จับตาของคนในสังคม หลายเสียงสะท้อน ต่างถอดบทเรียนคดี "หมอกระต่าย ความปลอดภัยบนทางม้าลาย วันนี้ได้รวบรวมเสียงสะท้อนของผู้คนที่หวังสร้างจิตสำนึกของผู้ขับขี่ ให้เคารพกฎจราจรที่คำนึงถึงความปลอดภัย

 

เสียงสะท้อน! หลัง 'หมอกระต่าย' เสียชีวิต

 

วินทร์ เลียววาริณ ถอดบทเรียนเคสหมอกระต่าย 

เฟซบุ๊ก วินทร์ เลียววาริณ ได้โพสต์ข้อความกรณีหมอกระต่ายเสียชีวิตว่า ได้ยินข่าวแพทย์ถูกยานพาหนะชนบนทางม้าลายแล้วสะท้อนใจ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นจริง ๆ แต่ก็ไม่ค่อยแปลกใจที่เกิดขึ้น เพราะหากเดินบนทางเท้าแท้ ๆ ก็ยังมีมอเตอร์ไซค์บีบแตรไล่หลัง อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้

ประเด็นน่าจะเป็นที่เราไม่ถือว่ากฎจราจรเป็นเรื่องที่ควรจริงจัง ผมเคยใช้ชีวิตหลายปีที่สิงคโปร์ คนใช้รถใช้ถนนถือเรื่องทางม้าลายเคร่งครัดมาก เพราะหากทำผิดกฎจราจร มีการหักคะแนนด้วย หักหมดเมื่อไร ก็ริบใบขับขี่

 

จริงจังขนาดหากขับรถตอนตีสี่ ยามทั้งเมืองหลับใหล ไม่มีใครสักคน แต่เห็นไฟแดงตรงทางม้าลาย ก็ต้องจอดรอจนไฟเป็นสีเขียว จึงข้ามทางม้าลายไปได้ ไปไหนมาไหน ยานพาหนะจะหยุดให้คนข้ามถนนที่ทางม้าลายก่อนเสมอ ในทำนองกลับกัน หากคนเดินข้ามทางม้าลายตอนที่มีไฟแดงห้ามข้าม ก็ต้องโทษเช่นกัน


ตอนที่ผมอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก ก็ค่อนข้างแปลกใจที่เห็นคนข้ามถนนโดยไม่สนใจไฟจราจร นึกว่าพวกฝรั่งมีวัฒนธรรมสูงจะไม่มักง่าย

 

สำหรับเหตุการณ์นี้ ก็ควรถือเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนจริงจังกับการเคารพกฎจราจรมากกว่านี้ เป็นเรื่องที่เราควรปลูกฝังไว้แน่นในจิตสำนึก

 

ระหว่างนี้ก็ใช้ทางม้าลายอย่างระวัง มองซ้ายมองขวาแล้วมองซ้ายอีก และเรียนรู้การใช้สะพานลอยข้ามถนนด้วยเถอะ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ว่าตายหรือพิการ ก็ไม่คุ้มทั้งนั้น

 

'เอ้-สุชีชวีร์' เสนอ 3 ทางแก้ หยุดโศกนาฏกรรมบนถนน หลัง 'หมอกระต่าย' ถูกตร.ชนบนทางม้าลาย

 

"เอ้ สุชัชวีร์" สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ต่อกรณี "หมอกระต่าย" แพทย์หญิงถูกรถบิ๊กไบก์ชนขณะข้ามทางม้าลาย บริเวณถนนพญาไท ว่า แค่เสียใจ คงไม่พอ พร้อมเสนอ 3 ทางแก้ โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญบนถนนใจกลางกทม. เมื่อรถมอเตอร์ไซค์ชนคุณหมอรามาเสียชีวิต ขณะข้ามทางม้าลาย

 

ผม เอ้ สุชัชวีร์ ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุด ต่อครอบครัวคุณหมอกระต่าย และเพื่อนร่วมงานทุกท่าน แต่แค่เสียใจ คงไม่พอ

 

เมื่อผมอาสามารับใช้ กทม. ก็ต้องมาพร้อมกับการแก้ปัญหา ไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้นอีก

 

ในฐานะวิศวกร อดีตนายกวิศวกรรมสถานฯ และอดีตนายกสภาวิศวกร ผมขอเสนอ (อีกครั้ง) ว่า ในประเทศที่อุบัติเหตุบนถนนน้อยมาก เขาทำอย่างไร ทำไมเราต้องเปลี่ยนถนนกทม.ให้ปลอดภัย

 

1. "ต้องไม่ยอมให้ผ่านไป เหมือนไฟไหม้ฟาง มีหน่วยงานหาความจริง"

 

เมื่อมีอุบัติเหตุบนถนน เขาจะตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อถอดบนเรียนจริงจัง ไม่รอข่าวเงียบ เพื่อหาต้นตอปัญหา ไม่ใช่แค่รู้ว่าใครชน คนนั้นรับผิดชอบ เพราะมันอาจเกิดจากปัจจัยอื่นด้วย ดังนี้

 

"เกิดจากถนน และสิ่งแวดล้อม" หรือ "เกิดจากยานพาหนะ" หรือ "เกิดจากคน ผู้ขับขี่" หรือ ทุกปัจจัย

 

เพื่อนำไป "แก้ไขที่ต้นเหตุ!!!" ลดความเสี่ยง หยุดการสูญเสียในอนาคต

 

กทม. จะต้องมีหน่วยงานกลาง เพื่อไต่สวนหาสาเหตุที่แท้จริง ถอดบทเรียนเพื่อนำมาดำเนินลดความเสี่ยง หน่วยงานนี้ต้องมี ผู้เชี่ยวชาญด้านถนนและวิศวกรรมจราจร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระภายนอก

 

ดำเนินการเก็บข้อมูลหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ถูกต้อง

 

แล้วเสนอทางแก้ไข ทั้งด้วยการเปลี่ยนกายภาพถนน ใช้เทคโนโลยี และปรับกฏระเบียบ ...

 

กทม. มีสำนักจราจร มีสำนักโยธา มีสำนักการแพทย์ มีคณะวิศวะ คณะแพทย์ มีคนเก่ง พร้อมครับ ต้องทำ #เราทำได้

 

2. "ประชาชน ชุมชน ต้องร่วมตรวจประเมินถนน ฟุตบาท"

 

การป้องกันดีกว่า การแก้ไขหลังสูญเสีย ในต่างประเทศ จะมี "การประเมินความปลอดภัยบนถนน" หรือ Road Safety Audit เป็นประจำ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ที่ได้รับการอบรมและมีใบอนุญาตตรวจสอบถนน

 

และมี "ตัวแทนประชาชนผู้ใช้ถนน" มาเดินร่วมกันตรวจถนนและฟุตบาท ปีละสองครั้งก็ได้

 

ชุมชนเช่น หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล ต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบ และปรับปรุงจุดเสี่ยงร่วมกัน เพราะลูกเขาข้ามถนน ใช้ฟุตบาทไปโรงเรียนตรงนี้ทุกวัน เขามาทำงานเดินผ่านทางนี้ทุกวัน เขารู้ดี ว่าเขามีอันตราย ลูกเขาเสี่ยง

 

ผมมั่นใจ ประชาชนพร้อมช่วยครับ หากกทม.เปิดโอกาส

 

และ 3. "ปลูกฝังจิตสำนึกกฏจราจรแต่เด็ก ให้ลูกสอนพ่อแม่"

 

เพราะต่อให้ถนนดีแค่ไหน เทคโนโลยีล้ำขนาดไหน ก็แค่ลดความเสี่ยง ยังไงไม่สู้ การมีจิตสำนึกของคนใช้ถนน จริงไหม?

 

ทุกชาติ เริ่มที่เด็กเล็ก!

 

ผมอยากทำโรงเรียนอนุบาล กทม. ที่สอนหน้าที่พลเมือง เรื่องการขับรถ การข้ามถนน แม้ว่าวันนี้เขาขับขี่ยังไม่ได้ แต่เขาสอนพ่อแม่! "ไฟเหลืองนะคะ คุณพ่อหยุดนะคะ" หรือ "มีคนรอข้ามทางม้าลาย แม่หยุดนะครับ" ใครกล้าไม่เชื่อลูก? อายลูก

 

และเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ กรุงเทพก็มีพลเมืองคุณภาพ เคารพกฏจราจรทุกคน ดีไหมครับ

 

ผมอยากทำจังเลย...มาร่วมกันเปลี่ยนกรุงเทพ ให้ปลอดภัยเถอะครับ อย่าให้ความสูญเสียนี้ เกิดขึ้นกับใครอีกเลย #เราทำได้ ครับ

 

'วิโรจน์' ตรวจทางม้าลาย หลังบิ๊กไบก์ ชน 'หมอกระต่าย' ย้ำต้องใช้เทคโนโลยีแก้ สร้างค่านิยมใช้รถ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ครั้งแรกหลังเปิดตัวลงชิงผู้ว่าฯ กทม. ตรวจสอบทางม้าลายที่เกิดอุบัติกรณีตำรวจควบคุมฝูงชนขี่บิ๊กไบก์ชนแพทย์หญิงจนเสียชีวิต

 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า วันนี้ตนลงมาดูโครงสร้างปัญหา เพื่อดูว่าทางวิศวกรรมจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ซึ่งหลังจากทดลองเดินข้ามทางม้าลายที่เกิดเหตุ วันนี้พฤติกรรมของประชาชนทุกอย่างยังเหมือนเดิม การเดินข้ามถนนต้องรีบวิ่งหลบรถกันอยู่ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องผิดปกติมาก แต่จะโทษนิสัยคนขับรถอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีกลไกหรือระบบเตือนใจ กทม.จะต้องมีเส้นชะลอความเร็ว ต้องมีไฟส่องสว่าง ต้องมีไฟสัญญาณ กล้องวงจรปิดต้องมี กล้องตรวจจับความเร็ว

 

ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีแล้ว การดูแลเมืองต้องใส่หัวใจไปด้วย ทางข้ามต้องปลอดภัย คนข้ามต้องปลอดภัยเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะมีอาชีพใด เพศไหน แค่ไม่กี่ตารางเมตรตรงนี้ต้องปลอดภัยได้

 

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น กทม.ต้องเป็นเจ้าทุกข์ไปแจ้งความดำเนินคดีให้ทันทีเพื่อปกป้องชีวิตทุกคน แม้เราไม่มีหน้าที่ปรับโดยตรง แต่เรารวบรวมพยานหลักฐานไปแจ้งความได้โดยไม่ต้องรอเจ้าทุกข์ เมื่อจับและตัดแต้มเรื่อยๆ เราจะสามารถสร้างค่านิยมใหม่ในการใช้รถใช้ถนนได้

 

ตนไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานลอยเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะประชาชนต้องการเดินข้ามถนนด้วยทางข้าม กทม.ไม่ควรสร้างภาระให้ประชาชน แต่ควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เราต้องให้ความสำคัญกับประชาชนที่ใช้ถนนบนทางเท้า หากวันนึงคนที่ประสบอุบัติเป็นพี่น้องเรา เป็นครอบครัวเรา เราต้องรับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

 

"คนที่เป็นพ่อเมืองหรือพ่อบ้านต้องไม่ท้อ เราต้องเป็นเหมือนพ่อบ้านจู้จี้จุกจิก แต่เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ผู้ว่าฯ ต้องเป็นพ่อเมืองที่เข้าใจหัวอกของทุกคน" นายวิโรจน์ กล่าว

 

ขณะที่ นายสุรเชษฐ์ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขทางวิศวกรรม 3 ประเด็น ได้แก่ 1.จะต้องมีการควบคุมความเร็ว ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยี หรือมีป้ายเตือน เพราะบนถนนมีจุดบอด (blind spot) 2.จะต้องมีการกวดขันวินัยจราจร โดยเสนอเป็นกฎหมายเชิงตัดแต้มที่ไม่ใช่การจ่ายค่าปรับอย่างในปัจจุบัน ซึ่งไม่กระทบกับคนรวย และ 3.แก้ไขแต่ละจุด หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ต้องพิจารณาหากลไกดูตามแต่ความเหมาะสมในพื้นที่

 

อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ชง 3 ข้อ ต้องทำ อย่าให้มีกรณี "หมอกระต่าย" เกิดขึ้นอีก

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เขียนข้อความแสดงความเห็นกรณีข่าวอุบัติเหตุสะเทือนขวัญ จนท.ตำรวจควบคุมฝูงชนรายหนึ่ง ขี่มอเตอร์ไซต์ความเร็วสูงชนแพทย์หญิงขณะกำลังข้ามสะพานลอยจนเสียชีวิต โดย ระบุว่า

 

อย่าให้มีกรณี “หมอกระต่าย” เกิดขึ้นอีก !

 

ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับความครัวของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ที่ถูกตำรวจขี่มอเตอร์ไซค์ชนขณะข้ามทางม้าลายหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้หมอกระต่ายเสียชีวิต นับเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดเช่นนี้อีก

 

1. สิ่งที่ต้องทำ

1.1 ใช้มาตรการทางกฎหมาย

ต้องเข้มงวดกวดขันการใช้กฎหมายจราจร หรือพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่หลายมาตราบัญญัติให้ผู้ขับขี่ขับรถด้วยความระมัดระวังเมื่อใกล้ถึงทางม้าลาย ต้องชะลอความเร็วของรถลง ไม่ว่าจะเห็นคนข้ามทางม้าลายหรือไม่ เพื่อให้ผู้ข้ามทางม้าลายปลอดภัย แต่เป็นเพราะความไม่เคารพกฎหมายของผู้ขับขี่บางราย ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ข้ามทางม้าลาย และเพราะความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย อุบัติเหตุรถชนคนข้ามทางม้าลายจึงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ

 

1.2 ใช้มาตรการทางวิศวกรรมจราจร

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามีผู้ขับขี่บางรายไม่เคารพกฎจราจร ด้วยเหตุนี้ จะต้องใช้มาตรการบังคับให้เขาต้องชะลอความเร็วของรถลงก่อนถึงทางม้าลายให้ได้ เช่น ทำลูกระนาดชะลอความเร็วขวางถนนก่อนถึงทางม้าลาย เป็นต้น

 

1.3 อำนวยความสะดวกสบายให้ผู้ข้ามถนนด้วย “สะพานลอยพร้อมลิฟต์หรือบันไดเลื่อน”

 

เหตุผลหนึ่งที่ผู้ข้ามถนนไม่นิยมใช้สะพานลอยข้ามถนนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ นั่นก็คือต้องเดินขึ้นบันไดสูงและชันหลายขั้น ทำให้เหนื่อยและเมื่อย ผู้สูงอายุบางท่านมีอาการปวดเข่า ปวดขา ทำให้ไม่สะดวกในการใช้สะพานลอย ด้วยเหตุนี้ กทม. ควรพิจารณาติดตั้งลิฟต์หรือบันไดเลื่อนแทนบันไดขึ้นสะพานลอย มีหลังคากันแดดกันฝน แม้จะใช้งบมากขึ้นก็ตาม แต่ก็คุ้มค่ากับการรักษาชีวิตคน

 

2. สิ่งที่ต้องไม่ทำ

มีบางคนคิดจะแก้ปัญหารถติดแบบง่ายๆ ด้วยการเสนอให้รื้อเกาะกลางถนนออกเพื่อเพิ่มผิวจราจร ผมขอบอกว่าแนวคิดนี้ไม่ได้ผลแน่นอน เนื่องจากในกรุงเทพฯ มีทางแยกมากมาย ซึ่งทำหน้าที่รองรับรถจำนวนมากจากทุกทิศทาง ทำให้มีปริมาณรถเกินความจุของทางแยก กว่าจะขับรถผ่านทางแยกได้ต้องใช้เวลานาน เป็นผลให้รถติด

 

ด้วยเหตุนี้ แม้จะเพิ่มผิวจราจรด้วยการรื้อเกาะกลางถนนออกก็ตาม แต่ถ้าไม่สามารถเพิ่มความจุของทางแยกได้ เช่น ไม่มีสะพานลอยข้ามทางแยก หรืออุโมงค์ลอดทางแยก รถก็ยังคงติดที่ทางแยกเช่นเดิม

 

ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือการรื้อเกาะกลางถนนออกจะทำให้คนข้ามทางม้าลายไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง เพราะไม่มีที่ยืนรอเดินข้ามถนนอีกครึ่งหนึ่ง

 

3. สรุป

ผมขอเรียกร้องให้ผู้มีหน้าเกี่ยวข้องในการรักษาความปลอดภัยให้กับคนข้ามทางม้าลาย เร่งพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้น และที่สำคัญ ต้องถือว่ากรณีหมอกระต่ายเป็นบทเรียนที่ประเมินค่าไม่ได้ อย่าปล่อยให้เป็นไฟไหม้ฟางที่จะจางหายไปกับกาลเวลา รีบลงมือตั้งแต่วันนี้เถอะครับ !

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง