เฟดกังวลนโยบายทรัมป์ฉุดเศรษฐกิจ ยังไม่รีบลดดอกเบี้ย

เฟดเผยรายงานประชุมมี.ค. กังวลนโยบายการค้าทรัมป์กระทบเศรษฐกิจภายใน ขณะยังไม่เร่งลดดอกเบี้ย แม้เผชิญความไม่แน่นอน-เงินเฟ้อสูงขึ้น
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค. โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความกังวลว่านโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันกรรมการเฟดส่งสัญญาณว่าจะไม่รีบร้อนพยุงเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากคาดว่าการเพิ่มขึ้นของภาษีศุลกากรจะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นด้วย
รายงานการประชุมซึ่งมีการเผยแพร่ในวันพุธ (9 เม.ย.) บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดตระหนักว่า เฟดกำลังดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนในภาคธุรกิจชะลอตัวลง นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังเรียกร้องให้ใช้แนวทางระมัดระวังในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดที่เข้าร่วมการประชุมในวันดังกล่าวประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยกรรมการส่วนใหญ่มองว่าความเสี่ยงที่มีต่อเงินเฟ้อนั้น มีแนวโน้มสูงขึ้น และความเสี่ยงที่มีต่อการจ้างงานมีแนวโน้มลดลง
นอกจากนี้ กรรมการบางคนมองว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) อาจเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากหากปัญหาเงินเฟ้อยังคงยืดเยื้อ ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอ่อนแอลง
ในการประชุมเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค. คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 4.25% - 4.50% ส่วนในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปีนี้ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงาน Dot Plot เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว
การประชุมดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่ปธน.ทรัมป์จะประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) และภาษีศุลกากรพื้นฐาน (Baseline Tariff) เมื่อวันพุธที่ 2 เม.ย. โดยภาษีศุลกากรตอบโต้จะแตกต่างกันไปเป็นรายประเทศ ขึ้นอยู่กับการตั้งกำแพงภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศนั้น ๆ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. ส่วนภาษีศุลกากรพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 10% เท่ากันทุกประเทศ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย.
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) ปธน.ทรัมป์ประกาศลดภาษีศุลกากรให้กับประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ลงเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศเหล่านี้สามารถเจรจากับสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันปธน.ทรัมป์ประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 125% จากเดิม 104% โดยมีผลบังคับใช้ในทันที เพื่อตอบโต้จีนที่เพิ่มการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 84% จากเดิม 34% โดยมีผลบังคับใช้ในวันพฤหัสบดีที่ 10 เม.ย.