รีเซต

วางแผนภาษี 2564 กันหรือยัง? เช็ค 4 ขั้นตอนต้องรู้ ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

วางแผนภาษี 2564 กันหรือยัง? เช็ค 4 ขั้นตอนต้องรู้ ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
TeaC
25 พฤศจิกายน 2564 ( 13:54 )
511
วางแผนภาษี 2564 กันหรือยัง? เช็ค 4 ขั้นตอนต้องรู้ ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ข่าววันนี้ วางแผนภาษี คืออะไร? เป็นการเตรียมตัวเพื่อเสียภาษียังไงล่ะ แล้วเราจะวางแผนภาษียังไงให้ถูกต้องครบถ้วน จะได้พร้อมก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทุกปี  ทั้งมนุษย์เงินเดือน หรือฟรีแลนซ์ทั้งหลาย แถมจ่ายภาษีน้อยลง ได้เงินคืนภาษีกลับมาเป็นเงินออมได้อีกด้วยนะ และยังสามารถบริหารจัดการตัวเองให้ชำระภาษีได้ตรงเวลาอีกด้วย ดังนั้น มาดู 4 ขั้นตอนง่าย ๆ กัน ได้แก่ คำนวณภาษีที่ต้องจ่าย, หาตัวช่วยประหยัดภาษี, ยื่นร่วม หรือแยกยื่นภาษี และวิธียื่นภาษีและชำระภาษีที่ง่ายและสะดวกกับเรา

1. คำนวณภาษีที่ต้องจ่าย

สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกเลย คือ ในปีนี้เรามีรายได้ หรือ "เงินได้พึงประเมิน" เท่าไหร่ เงินได้ประเภทไหนบ้าง เช่น เบี้ยประชุม เงินเดือน ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ คำถามต่อมาทำไมต้องสำรวจเงินได้พึงประเมิน นั่นเพราะเงินได้แต่ละประเภทเราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากันนั่นเอง 

มนุษย์เงินเดือนทั่วไป ถ้าอยากรู้ว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไร ลองใช้วิธีคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา คือ การนำรายได้ทั้งหมดที่มีในปีนั้นมารวมกัน และนำค่าลดหย่อนต่าง ๆ มาลบออกจากรายได้ เมื่อรวมรายได้ทั้งหมด พร้อมกับลบค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้ว จะเหลือเป็น "เงินได้สุทธิ" ซึ่งจะต้องนำเงินจำนวนนี้ไปคำนวณภาษี เพื่อเสียภาษีตามขั้นบันได 5-35% 

2. หาตัวช่วยประหยัดภาษี

หากใครลองคำนวณดูแล้วเห็นว่าต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ข้อถัดมาในสิ่งที่ต้องทำคือ การหาตัวช่วยประหยัดภาษี เพื่อลดภาระตรงนี้ได้ด้วยการใช้สิทธิ์ "ลดหย่อนภาษี" นอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท มาลองดูว่ามีอะไรบ้างที่นำมาลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยประหยัดภาษีได้ ยกตัวอย่าง 

  • กรณีมีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน : สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท
  • กรณีมีบุตร : สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาทต่อบุตร 1 คน โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร (ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร)
  • กรณีอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา หรือบิดา-มารดาของคู่สมรส : สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาทต่อคน สูงสุด 4 คน รวม 120,000 บาท (ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร)
  • ประกันสังคม : หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
  • ประกันชีวิต : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันสุขภาพ : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
  • ประกันสุขภาพบิดา-มารดา : ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ประกันชีวิตบำนาญ : 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) : ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  • กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน : ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) : ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) : ลงทุนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) : หักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา, สถานพยาบาลของรัฐ และการกีฬา : หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง
  • เงินบริจาคเพื่อการกุศลอื่น ๆ : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
  • ฯลฯ

 

ถ้าเช็คดูแล้วมีรายการที่สามารถนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ ก็จะช่วยให้จ่ายภาษีน้อยลง 

3. ยื่นร่วม หรือแยกยื่นภาษี

สำหรับ สามี-ภรรยาที่มีรายได้ในปีนั้นทั้งคู่ ต้องพิจารณาว่าควรยื่นภาษีแบบไหนถึงจะช่วยประหยัดภาษีได้มากกว่า อาทิ แยกยื่นภาษี หรือยื่นรวมภาษี และแยกยื่นภาษีเฉพาะเงินเดือน ซึ่งมีข้อแตกต่างอย่างไร มาดูกันเลย


3.1 แยกยื่นภาษี 

คู่สมรสที่มีฐานภาษีเดียวกันควรใช้วิธีต่างคนต่างยื่นภาษี เพราะการรวมยื่นภาษีจะทำให้รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้เสียภาษีเพิ่มไปอีกขั้น

3.2 ยื่นรวมภาษี

กรณีการยื่นรวมภาษี จะเหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีฐานภาษีต่ำ แต่มีค่าลดหย่อนสูงกว่ารายได้ของตัวเอง ดังนั้น เมื่อนำรายได้ทั้ง 2 คนมารวมกันจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เต็มที่

3.3 แยกยื่นภาษีเฉพาะเงินเดือน

หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเงินได้ประเภทเงินเดือนสูงมาก และมีเงินได้ประเภทอื่น ๆ เช่น เงินปันผลหุ้น กองทุนรวม ค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ ร่วมด้วย ฝ่ายที่มีเงินเดือนสูงควรแยกยื่นภาษีเฉพาะเงินได้ประเภทเงินเดือนของตัวเอง ส่วนเงินได้ประเภทอื่น ๆ ให้นำไปยื่นรวมกับคู่สมรสที่มีรายได้ไม่สูงมาก เพื่อให้ฐานภาษีของตัวเองลดลง

4. วิธียื่นภาษีและชำระภาษีที่ง่ายและสะดวกกับเรา

ข้อสุดท้าย อย่าลืมวางแผนยื่นภาษีผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วย เช่น การยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต และขอรับเงินคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ ช่วยประหยัดเวลาและยังได้เงินคืนภาษีเร็วขึ้น ส่วนการยื่นช่องทางอื่นอย่าลืมเช็กวันกำหนดในการยื่นด้วย จะได้ไม่พลาดยื่นภาษีช้า แล้วยังต้องมากเสียเวลา เสียเงินเพิ่มกันนะ

 

และนี่คือ 4 ข้อหลัก ๆ ที่มนุษย์เงินเดือน หรือฟรีแลนซ์ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ศึกษากันไว้สักนิด จะได้จ่ายภาษีน้อยลง ส่วน >>> เงินภาษีที่ได้คืน ทำอะไรได้บ้าง?

 

ข้อมูล : กรมสรรพากร, ธนาคารออมสิน

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง