รีเซต

ไทย ชาติที่ 5 ของโลก เลี้ยงเต่ามะเฟืองคืนสู่ธรรมชาติ ยับยั้งการสูญพันธุ์เต่าใหญ่สุดในโลก

ไทย ชาติที่ 5 ของโลก เลี้ยงเต่ามะเฟืองคืนสู่ธรรมชาติ ยับยั้งการสูญพันธุ์เต่าใหญ่สุดในโลก
TNN ช่อง16
16 พฤษภาคม 2567 ( 13:03 )
35

นี่ถือเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของไทย เพราะเป็น 1 ในแค่ 5 ประเทศของโลก ที่ฟูมฟักและเลี้ยงดูลูกเต่ามะเฟียงได้สำเร็จมา 1 ปีเต็ม ก่อนปล่อยพวกมันสู่ธรรมชาติ 

 

เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เป็นเต่าทะเลใหญ่ที่สุดในโลก กระดองโตยาวได้ถึง 210 เซนติเมตร หนักได้ถึง 900 กิโลกรัม โดดเด่นด้วยลวดลายบนผิวหนังและกระดอง ถือเป็นหนึ่งใน 7 สปีชีส์เต่าทะเลทั่วโลก

 

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมาตรการการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองค่อนข้างจะเข้มข้น จากผลที่เราร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เพิ่มขึ้น” ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าว

 

“เราจำเป็นต้องศึกษาให้มากขึ้น เส้นทางของพวกเต่าไปทางไหน เพื่อที่เราจะมีมาตรการในการคุ้มครองลูกเต่า ไม่ให้มีปัญหาระหว่างที่มันฟักออกจากรัง” เขากล่าวต่อ

 

เต่าทะเลสำคัญอย่างไร พวกมันมีบทบาทสำคัญมากต่อระบบนิเวศ เพราะกินแมงกะพรุนในปริมาณมาก ทำให้ช่วยควบคุมประชากรแมงกะพรุนในทะเลได้เป็นอย่างดี แต่พวกมันเองก็ใกล้สูญพันธุ์ กองทุนสัตว์ป่าโลกประเมินว่า เหลือเต่ามะเฟืองตัวเมียน้อยกว่า 2,300 ตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

ดร.ปิ่นสักก์ เล่าว่า อันที่จริง เต่ามะเฟืองหายไปอย่างปริศนาจากไทยในช่วงปี 2556 ทำให้ภาครัฐ เอกชน และนักอนุรักษ์ หาทางฟื้นฟูพวกมันกลับมา และทำได้สำเร็จในปี 2561 ที่เห็นเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ในพังงาและภูเก็ต 

 

ตอนนี้ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ในภูเก็ตกำลังเลี้ยงดูลูกเต่ามะเฟืองหลายสิบตัวที่เพิ่งฟักไข่ ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไว้อย่างดี เพื่อให้มันมีชีวิตรอดและเติบโตไปได้ เพื่อให้พวกมันมีโอกาสรอดมากขึ้น เมื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

 

“เราเอาลูกเต่าที่ไม่มีโอกาสรอดในธรรมชาติ มาเลี้ยง ในบ่อเลี้ยงเพื่อช่วยมัน อันไหนที่มันแข็งแรง มันดีอยู่แล้ว ให้มันออกไปสู่ธรรมชาติเป็นตัวคัดเลือก เราไม่ได้ไปแตะตรงส่วนนั้น เราไม่ได้ถวิลหาว่า เราจะให้มันรอด 100% ด้วยการเอาเต่าที่มันรอด มาอยู่ เราไม่ได้ทำอย่างนั้น เราต้องการคือ ช่วยที่มันใกล้ตายอยู่แล้ว บอกว่าล้านเปอร์เซ็นต์ตายแน่ ให้มันรอด ตอนนี้เราได้ 20-50 ตัวแล้ว” หิรัญ กังแฮ หัวหน้างานสัตว์ทะเลหายาก ระบุ

 

แต่แรกเริ่มโครงการนั้น ไม่มีลูกเต่ามะเฟืองที่เก็บมาดูแล รอดชีวิตเลย แต่ตอนนี้ รอดได้ 20-50 ตัวแล้ว ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

 

แต่จำนวนเต่ามะเฟืองตัวเมียที่เหลือในไทยเพียง 10 ตัว ความเสี่ยงที่พวกมันจะสูญพันธุ์ยังสูงมาก เพราะเต่ามะเฟืองแม้จะวางไข่ในพื้นที่เขตร้อน หรือกึ่งเขตร้อน แต่พวกมันใช้ชีวิตในท้องทะเล เดินทางไปได้ไกลถึงนอร์เวย์ และใต้สุดถึงนิวซีแลนด์ และดำน้ำได้ที่ความลึกถึง 1,000 เมตร พวกมันจึงเสี่ยงต่อภัยอันตรายหลายอย่าง ทั้งการกินขยะพลาสติก สารพิษ อวนจับปลา เป็นต้น

 

และภัยสำคัญที่ควบคุมได้ยากยิ่ง คือ ปัญหาโลกร้อน

 

“โลกร้อนขึ้น มันจะทำให้ไข่ของเต่าทะเลตัวเมีย อุณหภูมิเกิน 31 องศาขึ้นไป จะทำให้เป็นตัวเมียหมด ตัวเมียหมดเกิดการสูญพันธุ์” หิรัญ กล่าว

 

แล้ว “ลูกเต่า 1 รัง สมมติว่าฟักออกมา 100 ตัว ต้องมีถึง 10 รัง ถึงจะรอดตัวเต็มไวได้ตัวหนึ่ง 0.1 – 0.2 %” เขาเสริมถึงสถิติการรอดที่น้อยนิดของเต่าทะเลใกล้สูญพันธุ์สปีชีส์นี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง