รีเซต

พบแก๊ส 2 ชนิดบนเมฆดาวศุกร์ อาจเป็นหลักฐานบ่งชี้สิ่งมีชีวิต

พบแก๊ส 2 ชนิดบนเมฆดาวศุกร์ อาจเป็นหลักฐานบ่งชี้สิ่งมีชีวิต
TNN ช่อง16
21 กรกฎาคม 2567 ( 11:07 )
24

ดาวศุกร์เป็นดาวที่มีสภาพแวดล้อมแบบสุดโต่ง ทั้งร้อนจัดจนละลายโลหะได้ ทั้งปกคลุมไปด้วยบรรยากาศพิษ ดังนั้นมันจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพบสิ่งมีชีวิต แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานว่า ตรวจพบแก๊ส 2 ชนิดในเมฆบนดาวศุกร์ ซึ่งหากเป็นบนโลกของเรา แก๊ส 2 ชนิดนี้มักปล่อยออกมาจากสิ่งมีชีวิต ดังนั้นมันจึงอาจเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตในเมฆบนดาวศุกร์ แต่ยังเร็วไปที่จะสรุป เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมุติฐานว่าอาจเกิดจากสารเคมีที่ไม่รู้จักก็เป็นไปได้


การค้นพบนี้ถูกนำเสนอในการประชุมดาราศาสตร์แห่งชาติในเมืองฮัลล์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2024 มีรายงาน 2 ฉบับที่แยกกันศึกษา โดยชิ้นหนึ่งพบหลักฐานของแก๊สฟอสฟีน และอีกชิ้นพบหลักฐานของแก๊สแอมโมเนีย ซึ่งการค้นพบนี้ก็ทำให้เกิดการโต้แย้งของนักวิชาการ


หากเป็นบนโลกของเรา แก๊สแอมโมเนียจะเกิดจากกิจกรรมทางชีวภาพและกระบวนการทางอุตสาหกรรม ส่วนแก๊สฟอสฟีน ถูกผลิตโดยจุลินทรีย์ในสภาพแวดล้อมที่ขาดออกซิเจน เช่น ในไส้ของตัวแบดเจอร์ หรือในอุจจาระของนกเพนกวิน แต่การค้นพบบนดาวศุกร์นั้นยังไม่ทราบต้นเหตุ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เผยว่าปัจจุบันปรากฏการณ์ทางชั้นบรรยากาศ หรือเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาอย่างภูเขาไฟระเบิด ยังไม่พบการปล่อยแก๊สชนิดนี้


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรายงานการค้นพบแก๊สที่อาจมาจากสิ่งมีชีวิต เมื่อปี 2020 ก็มีรายงานการตรวจพบแก๊สฟอสฟีนบนดาวศุกร์เช่นกัน และมันก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดข้อถกเถียงและมีการศึกษาซ้ำ แต่ก็ไม่มีใครค้นพบอีก จนกระทั่งการสำรวจล่าสุดของเดฟ เคลเมนท์ (Dave Clements) และทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ (JCMT) พวกเขาค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของแก๊สฟอสฟีน รวมถึงได้สมมุติฐานเพิ่มเติมว่า จะพบแก๊สได้แค่ตอนกลางคืนเท่านั้น เมื่อชั้นบรรยากาศสัมผัสแสงแดด แก๊สฟอสซีนก็จะหายไป


เคลเมนท์ส ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สิ่งที่เราบอกได้คือมีแก๊สฟอสฟีนอยู่บนดาวศุกร์ แต่ที่เราไม่รู้คือมันถูกผลิตขึ้นมาได้อย่างไร อาจจะเกิดจากสารเคมีที่เราไม่รู้จัก หรืออาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิตก็ได้”


ขณะเดียวกัน การค้นพบหลักฐานเบื้องต้นของแก๊สแอมโมเนีย เกิดจากการศึกษาของศาสตรจารย์เจน กรีฟฟ์ (Jane Greaves) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ประเทศเวลส์ ซึ่งสำรวจโดยใช้กล้องโทรทรรศน์กรีนแบงก์


การค้นพบเหล่านี้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจดาวศุกร์ และเกิดการสังเกตการณ์บนดาวเคราะห์ดวงนี้มากขึ้น ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนคาดการณ์ว่า อาจเป็นไปได้ที่ในอดีต สภาพแวดล้อมบนดาวศุกร์อาจอยู่ในสภาพเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตจนมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเริ่มไม่เอื้อต่อการอาศัยอยู่ พวกมันก็อาจจะวิวัฒนาการไปอาศัยอยู่ในเมฆแทน


ทั้งนี้พื้นผิวของดาวศุกร์มีอุณหภูมิประมาณ 450 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนพอที่จะละลายตะกั่วและสังกะสีได้ นอกจากนี้ยังมีความกดอากาศสูงกว่าบนพื้นโลกของเราประมาณ 90 เท่า และยังมีเมฆที่เป็นกรดซัลฟิวริกอยู่ด้วย แต่เหนือพื้นผิวดาวศุกร์ขึ้นมาประมาณ 50 กิโลเมตร อุณหภูมิและความดันของดาวศุกร์จะใกล้เคียงกับบนโลก และหากจุลินทรีย์แข็งแกร่ง มันก็อาจจะอยู่รอดได้


อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายคนเปิดเผยว่า การค้นพบทั้งแก๊สฟอสฟีนและแก๊สแอมโมเนียนับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะอาจเป็นหลักฐานของสิ่งมีชีวิต แต่ก็ยังขาดหลักฐานสนับสนุนอื่น ๆ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก


ที่มาข้อมูล TheguardianFuturism

ที่มารูปภาพ NASA


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง