รีเซต

10 ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาก่อนปลดล็อก 9 มิ.ย. นี้

10 ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาก่อนปลดล็อก 9 มิ.ย. นี้
TNN ช่อง16
8 มิถุนายน 2565 ( 12:29 )
97

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา โดยระบุว่า ตั้งแต่ 9 มิ.ย.65 นี้ กัญชาทุกส่วน รวมถึง “ช่อดอกซึ่งมี THC สูง” จะไม่ถูกกำกับดูแลในฐานะสิ่งเสพติดในประเทศไทย และจะไม่มีกฎหมายกำกับดูแลการใช้ ไม่มีข้อจำกัดในการวางขายในช่องทางต่างๆ ไม่มีอายุที่ห้ามซื้อขาย ไม่มีสถานที่ห้ามเสพที่ชัดเจน จนกว่าจะมีกฎหมายที่กำกับดูแลการจัดการกัญชาให้ปลอดภัยแก่ประชาชนซึ่งตอนนี้ยังเป็นร่างพระราชบัญญัติไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติเนื่องจากยังไม่เข้าวาระการพิจารณาในสภา 

ในประเทศที่เสรีกัญชาแบบเสพสันทนาการได้จะมีการกำกับดูแลด้านต่างๆให้มีความปลอดภัยเช่นด้านการผลิต การตรวจคุณภาพผลิตภัณฑ์ คุณภาพฉลากและหีบห่อ ช่องทางการซื้อขาย การจำกัดอายุและการเข้าถึงเด็ก เป็นต้น

ในช่วงที่ พรบ.กัญชายังไม่ออกการกำกับดูแลในประเทศไทยจะไม่ระบุว่ากัญชาเป็นยาเสพติด แต่ไม่อาจเปลี่ยนความจริงที่ว่าสาร THC ที่พบใน “ช่อดอกกัญชา” มีฤทธิ์ทำให้เกิดการเสพติด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคทางจิตประสาท และมีผลกระทบต่อสุขภาพในระบบต่างๆ

ที่สำคัญคือ ควันจากการสูบกัญชาที่มี THC นี้ สามารถทำให้คนรอบตัวได้รับสาร THC เข้าสู่ร่างกายได้ เป็นกัญชามือสอง เช่นเดียวกับบุหรี่มือสอง ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยสามารถตรวจพบสารและในบางการศึกษาพบว่าผู้ได้รับควันมือสองนี้มีอาการมึนเมาและอาการระคายเคืองจากควันร่วมด้วย

ก่อนวันที่ 9 มิ.ย. ทางศูนย์ ได้ลองหา “กัญชา” ในช่องทางโซเชียลต่างๆท่านจะพบว่ามีการขายผลิตภัณฑ์เพื่อการเสพ THC หลากหลายรูปแบบโดยไม่มีมาตรฐานกำกับดูแล อาจมีสารปนเปื้อนและเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงสารละลายในแบบบุหรี่ไฟฟ้าที่เคยสัมพันธ์กับการปอดอักเสบในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มี 

ในช่วงที่ไม่มีการกำกับดูแล...การป้องกันตนเองและคนที่คุณรักจึงเป็นสิ่งที่เรา “ต้องรู้เท่าทันและระวังความปลอดภัยด้วยตนเอง” จนกว่า พรบ. จะออกมา หรือจะมีการเลื่อนการปลดล็อคออกไป ในช่วงนี้เราควรระมัดระวังเรื่องอะไรกันบ้าง 

ข้อควรระวังในการใช้กัญชา

1. ก่อนจะใช้กัญชาควรศึกษาความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองในระยะสั้นและระยะยาว ผู้มีโรคประจำตัวปรึกษาแพทย์ก่อนโดยเฉพาะผู้มีโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช โรคปอด และอย่าลืมเชคว่ายาประจำตัวของเราจะตีกับกัญชาหรือจะถูกสารกัญชารบกวนจนเกิดผลร้ายไหม

2. หากอายุน้อยกว่า 25 ปี อย่าใช้ช่อดอกกัญชาหรือสาร THC เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาต่อการพัฒนาทักษะด้านต่างๆทางสมอง โดยเฉพาะด้านการคิดอย่างมีเหตุผลซึ่งพบว่าหากมีการเสื่อมแล้ว แม้หยุดกัญชานานเป็นปีก็ไม่อาจคืนกลับเป็นปกติ (ส่วนทักษะทางภาษาและความจำระยะสั้นสามารถกลับคืนเมื่อหยุดเสพกัญชาได้)

3. หากคิดแล้วอยากจะลองใช้จริงๆ ก็ขอให้เริ่มแบบ THC (สารเมาหลอนและเสพติด) ปริมาณน้อย ใครท้าก็อย่าหน้าใหญ่ ใจใหญ่ลอง THC เข้มข้น...ไม่งั้นอาจเสี่ยงได้นอนหน้าสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะในห้องฉุกเฉินหรือ ICU ได้ 

4. การสูบกัญชาแบบเผาไหม้ บารากุ หรือแบบบุหรี่ไฟฟ้าล้วนเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจและเยื่อบุได้ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากตัวกัญชา สารละลาย หรือสารปนเปื้อนอื่น หากมีอาการควรหยุดสูบในทันที

5. ผู้ที่จะทดลองสูบ กรูณาสูบอย่าลึกมาก และอย่าอัด-กลั้นไว้ในปอด เพราะจะได้รับปริมาณสารเข้าสู่ร่างกายเยอะ ทั้งสาร THC และสารระคายเคืองต่างๆที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ

6. คนรอบตัวที่ไม่ได้สูบยังอาจได้รับควันกัญชาได้ ฉะนั้นควรสูบในที่จัดเป็นสัดส่วนของคนสูบกันเอง เลี่ยงการสูบในที่มีเด็ก คนท้อง หรือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ 

7. หากใช้กัญชาแล้ว พยายามใช้แต่น้อย และติดตามการใช้ของตนเอง หากจู่ๆเริ่มใช้บ่อยขึ้นเยอะขึ้น เริ่มทำใจไม่ใช้ลำบาก เริ่มเสียเงินกับกัญชาเยอะ หรือเริ่มคิดถึงการใช้กัญชามากจนรบกวรการทำงาน การดำเนินชีวิต หรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ต้องระวังว่ามีการติดกัญชาแล้ว ลองปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมการใช้กัญชาไม่ให้ติดจนรบกวนการดำเนินชีวิตมากไปกว่านั้น หากเห็นคนมีลักษณะนี้ลองหาทางพูดคุยอย่างเป็นมิตรให้เขาพิจารณาปรึกษาแพทย์นะครับ จะติดสารอะไรเขาก็ยังเป็นเพื่อนเป็นญาติพี่น้องเราและการติดเป็นสภาวะที่ดูแลรักษาได้ หากแนะนำแล้วยังไม่ได้ผลทันทีอย่าท้อใจครับ เราพูดอาจจะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่หากเราไม่พูดเลยก็เท่ากับตัดโอกาสการทบทวนตนเองของเขานะครับ 

8. การขับขี่ยานพาหนะขณะที่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นต้องแนะนำให้งดการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาและการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาร่วมกับการดื่มสุราจะทำให้ความสามารถในการขับยานพาหนะลดลงมาก ดังนั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดนะครับ แม้จะไม่มีการห้ามเสพขณะขับขี่บานพาหนะในช่วงที่ พรบ.ยังไม่ออก แต่หากก่อให้เกิดอุบัติเหตุก็ยังผิดในฐานะขับรถโดยประมาทนะครับ

9. การเลือกผลิตภัณฑ์กัญชา ควรเลือกที่มีความน่าเชื่อถือ ในต่างประเทศที่มีกติกากำกับดูแลผลิตภัณฑ์ จะมีการตรวจสารปนเปื้อน เชื้อโรค และยืนยันระดับสารว่าตรงกับที่ฉลากระบุ ซึ่งก็มีการคัดออกผลิตภัณฑ์ที่มีเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เศษปฏิกูลต่างๆออกอยู่

10. ข้อนี้สำคัญมาก!ในต่างประเทศที่ยอมให้มีอาหารหรือขนมผสมกัญชาที่มี THC สูง มีข่าวที่มีการบาดเจ็บจากการกินบราวนี่กัญชาทั้งที่ผู้ซื้อเขาจงใจซื้อบราวนี่ธรรมดามากินกับลูกแต่กลายเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะพิษ THC หากจะซื้อขนมมากินกรุณาเช็กให้แน่ใจว่าเป็นขนมแบบที่เราตั้งใจจะซื้อมากินจริงๆ หากเจอคนรอบตัวบาดเจ็บจากผลิตภัณฑ์อาหารหรือขนมใส่กัญชาโดยที่เจ้าตัวเขาจงใจจะซื้ออาหารหรือขนมธรรมดา (ปนเปื้อนกัญชา หรือใส่กัญชาโดยไม่แจ้งผู้บริโภค) ตั้งสติเก็บรายละเอียดช่องทางการซื้อขาย ผลิตภัณฑ์ที่เหลือ รวมถึงหีบห่อ และติดต่อสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค หรือนำส่งที่โรงพยาบาล

พร้อมกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการกระจายของผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อน THC โดยไม่ระบุเหล่านี้ ในช่วงเวลานี้ความรู้และสติเท่านั้นที่จะเป็นเกราะป้องกันเราและคนที่เรารักษาจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงที่ยังไม่มีการกำกับดูแลการจัดการกัญชาหวังว่า พรบ. กำกับดูแล จะออกมาโดยเร็วที่สุดและมีความรัดกุมเพียงพอเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่สังคม

นอกจากนี้ทางศูนย์ยังระบุอีกว่า บริษัทต่างๆยังมีสิทธิ์ในกฎของบริษัทที่จะยอมให้มี THC ในตัวพนักงานหรือไม่ก็ได้ หากเขาไม่รับเข้าทำงาน ไม่เลื่อนขั้น หรือไล่ออก เพราะตรวจพบ THC เป็นสิทธิ์ตามกติกาของบริษัท และหากมีการเจ็บป่วยหรือมึนเมาเกิดอุบัติเหตุจากกัญชาประกันจะจ่ายเต็มไหมก็แล้วแต่บริษัทเช่นกัน



ข้อมูลจาก  :  Ramathibodi Poison Center

ภาพจาก :    AFP /Ramathibodi Poison Center

ข่าวที่เกี่ยวข้อง