รีเซต

ซีพี ติดอันดับความยั่งยืนโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ชูจุดเด่นเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม เทียบชั้นบริษัทระดับโลก

ซีพี ติดอันดับความยั่งยืนโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ชูจุดเด่นเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม เทียบชั้นบริษัทระดับโลก
TNN ช่อง16
21 กุมภาพันธ์ 2567 ( 12:31 )
32

ซีพี  ติดอันดับความยั่งยืนโลก ระดับ “Top 5 %” จาก  S&P Global ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ชูจุดเด่นเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม เทียบชั้นบริษัทระดับโลก อาทิ SK Inc จากเกาหลี, Siemens AG จากเยอรมัน Keppel จากสิงคโปร์ และ Samsung C&T จากเกาหลี 

21 กุมภาพันธ์ 2567 – เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP Group ถูกประกาศให้เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนโดดเด่น โดยได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนระดับ “Top 5%” ในกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในรายงาน The Sustainability Yearbook 2024 จาก S&P Global  โดยเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินการด้านความยั่งยืนอยู่ใน Top 5% สูงสุดจากจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมการประเมินฯ ในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งหมด 102 บริษัท  กล่าวได้ว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังได้คะแนนสูงสุดมากถึง 7 หัวข้อ ถือเป็นเอกชนไทยรายเดียวที่ติดอันดับในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวร่วมกับ SK Inc ธุรกิจโทรคมนาคมจากสาธารณรัฐเกาหลี Siemens AG บริษัทเทคโนโลยีของเยอรมัน Keppel Corporation Ltd. ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนอกชายฝั่งและทางทะเลของสิงค์โปร์ และ Samsung C&T Corporation บริษัทชั้นนำด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างระดับโลกจากสาธารณรัฐเกาหลี  


นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า การที่เครือซีพีได้รับการคัดเลือกติดอันดับองค์กรชั้นนำใน The Sustainability Yearbook 2024 ด้วยคะแนนติด TOP 5%   ในกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จาก S&P Global สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของซีพีในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030  ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนใน 3 เป้าหมายหลัก คือ 1. ตั้งเป้าหมายนำองค์กรสู่ Carbon Neutral ( Scope 1 และ 2) ในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050  2. ของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) และ 3. สนับสนุนผู้คน 50 ล้านคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ 

ซีพีติดอันดับ Top 5% ได้คะแนนความยั่งยืนรวมจาก S&P Global อยู่ที่ 79% โดยได้รับคะแนนสูงสุดใน 7 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน 2.การบริหารจัดการนวัตกรรม 3.ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการหมุนเวียน 4.กลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศ 5.ความหลากหลายทางชีวภาพ 6.การบริหารจัดการความเสี่ยง และ 7.จริยธรรมทางธุรกิจ 


ปัจจุบันเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ได้ดำเนินการปรับโมเดลธุรกิจมุ่งส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม เพื่่อนำองค์กรสู่ Net Zero และ Zero Waste to Landfill  อาทิ ได้มีการจัดการของเสีย ด้วยการนำมูลสัตว์ไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไปแล้วกว่า  5.8 แสนตัน มีการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยเลือกใช้บรรจุุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ 94% การผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV ฟาร์มสุกร การติดตั้ง Solar Rooftop ที่ห้างค้าปลีกค้าส่งซึ่งในตอนนี้มีการติดตั้งไปแล้ว 4,950 แห่ง ในขณะเดียวกันมีการใช้ไบโอแก๊สทดแทนการใช้ไฟฟ้าของฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ไข่ไปแล้ว 55%  ทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงกว่า 1.7 แสนตันคาร์บอน นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น ความร่วมมือกับโตโยต้าและซีเจพีที ในการผลิตไฮโดรเจนจากไบโอแก๊สที่ได้จากมูลไก่ของฟาร์มซีพีเอฟ พร้อมทั้งมีการทดลองใช้ไฮโดรเจนในรถขนส่งกลุ่มค้าปลีก และโดรนการเกษตรด้วย พร้อมทั้งสนับสนุนให้พนักงานในเครือฯ คู่ค้า เกษตรกรร่วมกันปลูกต้นไม้ ปัจจุบันปลูกไปแล้ว 8.2 ล้านต้น เทียบเท่าการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 7.8 แสนตันคาร์บอน


นอกจากนี้เครือฯ ได้มีการวางแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 แบ่งเป็น Scope 1 และ 2 เน้นไปที่การใช้พลังงานหมุนเวียน 50%ด้วยการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โซลาร์พีวี  ก๊าซชีวภาพ รวมไปถึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 20%  และลดขยะของเสียสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ทั้งในเรื่องของการผลิตปุ๋ย การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และในส่วนของ Scope 3 เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก แต่เครือฯ ต้องทำให้สำเร็จ ด้วยการร่วมมือกับคู่ค้าในการลดคาร์บอน 25% ลดคาร์บอนจากเกษตรกรรม 30% และการลดคาร์บอนจากการขนส่ง 25% ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น การใช้รถยนต์ EV ในการขนส่งสินค้า และการบริหารจัดการ Logistics  เป็นต้น


สำหรับการประเมินความยั่งยืนองค์กรของ S&P Global ถือเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียว่า บริษัทมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในทุกมิติของความยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและการกำกับดูแล สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนและสร้างคุณค่าระยะยาวให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน 


โดยในปี 2566 มีบริษัทเข้าร่วมการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนกว่า 9,400 บริษัททั่วโลก และมีเพียง 759 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจัดอันดับใน The Sustainability Yearbook 2024  โดยมีบริษัทจากประเทศไทยเพียง 47 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ ซึ่งนอกจากเครือซีพียังมีบริษัทในเครือฯ ที่ได้เข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนองค์กรของ S&P Global ได้แก่ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ. ซีพี แอ็กซ์ตร้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง