รีเซต

"เซนเซอร์ทองคำ" แบบฝังใต้ผิวหนัง เปลี่ยนสีได้เพื่อบ่งบอกอาการป่วย

"เซนเซอร์ทองคำ" แบบฝังใต้ผิวหนัง เปลี่ยนสีได้เพื่อบ่งบอกอาการป่วย
TNN ช่อง16
7 เมษายน 2564 ( 13:41 )
165

การพัฒนาเซนเซอร์แบบฝังในมนุษย์ เพื่อใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย คือหนึ่งในสิ่งที่วงการนวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจมาเนิ่นนาน แต่การทดลองส่วนใหญ่พบว่าเซนเซอร์เหล่านี้อยู่ได้ไม่กี่วันก็สลายไป ทำให้การติดตามผลการศึกษาต่าง ๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเท่าไรนัก


ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโยฮัน กูเตนเบิร์ก ได้พัฒนาเซนเซอร์แบบฝัง (Implantable sensor) ที่สามารถอยู่ในร่างกายของมนุษย์ได้นานร่วมเดือนจนสำเร็จ โดยใช้อนุภาคทองคำในการสร้างเซนเซอร์นี้ขึ้นมา เซนเซอร์จะยึดติดอยู่บนแผ่นเนื้อเยื่อเทียมที่ได้จากเครื่องพิมพ์ชีวภาพ โดยทำออกมาให้มีความบางเพียง 1 มิลลิเมตรและใหญ่ไม่เกินเหรียญบาท ทำให้สามารถฝังลงไปในผิวหนังได้ง่าย แถมยังมองดูแล้วเหมือนการแปะแทททูไว้ที่ผิวหนังมากกว่า


ที่ตัวเซนเซอร์อนุภาคทองคำจะมีส่วนรับสัญญาณสารเคมีต่าง ๆ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย ตัวรับสัญญาณจะกระตุ้นให้เซนเซอร์เกิดการเปลี่ยนสีเพื่อบ่งบอกสถานะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายของเรา


นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองนำเซนเซอร์นี้ฝังไปในหนูสายพันธุ์ไร้ขน เพื่อให้สามารถสังเกตสีของเซนเซอร์ที่ผิวหนังได้ชัดเจน จากนั้นจึงให้ยาปฏิชีวินะแก่หนูทดลองไปในปริมาณต่าง ๆ เพื่อศึกษาดูว่าปริมาณไหนที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค ปรากฏว่าเมื่อปริมาณยาพอเหมาะแล้ว เซนเซอร์จะเกิดการเปลี่ยนสีเพื่อแจ้งให้นักวิทยาศาสตร์ทราบ


เชื่อว่าในอนาคตเซนเซอร์นี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เพื่อติดตามสารเคมีต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และหากสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก วันหนึ่งคุณอาจจะได้เห็นการฝังเซนเซอร์เพื่อคอยแจ้งเตือนว่าคุณกำลังจะป่วยก็เป็นได้ !!


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Science Focus

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง