อเมริกาพัฒนาเซนเซอร์เตือน "ฮีทสโตรก" แบบเรียลไทม์ ลดเสี่ยงทำงานกลางแจ้งก่อนสายเกินแก้ !

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอโมรี และสถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย หรือจอร์เจียเทค (Georgia Tech and Emory University) ในสหรัฐอเมริกา ร่วมกันพัฒนาต้นแบบเซนเซอร์แปะติดร่างกายที่สามารถบ่งชี้สภาวะอาการ “ฮีทสโตรก” หรือ “โรคลมแดด” ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้ใช้เข้ามาพักก่อนที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้อุณหภูมิในร่างกาย (Core temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งมีความเสี่ยงถึงชีวิต
ระบบเซนเซอร์เตือนฮีทสโตรก
เซนเซอร์ดังกล่าวเรียกว่าไบโอแพตช์ (Biopatch) มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบางแบบแปะติดได้ โดยการใช้งานจะแปะกับกลางหน้าอกของผู้เข้ารับการทดสอบ โดยตัวเซนเซอร์จะสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Vital sign) ความชุ่มชื้นของผิวหนัง (Skin hydration) รวมถึงติดตั้งเซนเซอร์วัดการเคลื่อนที่หรือไจโรสโคป (Gyroscope) เพื่อดูลักษณะการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ทีมวิจัยได้นำชุด Biopatch ไปทดสอบในบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานกลางแจ้ง โดยติดตั้งตัวเซนเซอร์เข้ากับคนงานที่ทำงานกลางแจ้ง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจาก Biopatch จะส่งต่อไปยังสมาร์ตโฟนของผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมา รวมถึงสมาร์ตโฟนของหัวหน้าคนงานด้วยเช่นกัน
โดยภายในแอปพลิเคชันจะรายงานข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์แบบเรียลไทม์ รวมถึงยังนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อคาดการณ์ว่าอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินไปหรือไม่ เพื่อให้คนงานหรือหัวหน้างานรับทราบและออกมาพักจากการทำงาน ดื่มน้ำ เพื่อลดอุณหภูมิภายในร่างกายต่อไป
เป้าหมายการพัฒนาระบบเซนเซอร์เตือนฮีทสโตรก
ทีมวิจัยต้องการให้ระบบ Biopatch สร้างการแจ้งเตือนโดยตรงไปยังคนงานที่ทำงานกลางแจ้ง ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงจากอาการโรคฮีทสโตรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่างจากระบบอื่น ๆ ที่เน้นส่งข้อมูลไปยังหัวหน้างานหรือหัวหน้าทีมเพื่อดูภาพรวมที่อาจไม่ทันการ
งานวิจัยเพื่อสร้างระบบตรวจจับภาวะโรคฮีทสโตรกของทีมวิจัยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2015 ก่อนพัฒนาเป็นเซนเซอร์แบบ Biopatch ที่มีน้ำหนักเบา กะทัดรัด และระคายเคืองน้อยกว่า ซึ่งเริ่มทดสอบตั้งแต่ปี 2024 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะตีพิมพ์ผลการวิจัยและการทดลองได้ภายในปี 2025 นี้
ผู้เสียชีวิตจากโรคฮีทสโตรก
โรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะไตล้มเหลว, หายใจเร็ว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ และช็อกหมดสติจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยปีละ 34 คน
ในขณะที่กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคของไทย รายงานตัวเลขการเสียชีวิตที่อาจเกี่ยวข้องกับความร้อน จากภาวะอากาศร้อนอยู่ที่ 67 คน ในปี 2024 ที่ผ่านมา