รีเซต

งานวิจัยชี้ ความเหงาเชื่อมโยงป่วยทางกาย โรคหัวใจ ความดันโลหิต ภูมิตก

งานวิจัยชี้ ความเหงาเชื่อมโยงป่วยทางกาย โรคหัวใจ ความดันโลหิต ภูมิตก
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2568 ( 22:49 )
13

ความเหงา กำลังกลายเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของผู้คนทั่วโลกอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อจิตใจ แต่ยังสร้างผลกระทบต่อสุขภาพกายอย่างลึกซึ้ง งานวิจัยล่าสุดจากทีมวิจัยนานาชาติซึ่งตีพิมพ์ใน International Journal of Public Health และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ EurekAlert! พบว่า “ความเหงา” เชื่อมโยงโดยตรงกับภาวะเจ็บป่วยหลากหลาย ทั้งโรคซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง ไปจนถึงระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (Stroke, Heart Disease) เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 29–32  เมื่อบุคคลมีความเหงาหรือความเชื่อมโยงทางสังคมต่ำ และ มีการเปรียบเทียบว่าอันตรายจากความเหงานั้น ร้ายแรงเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน หรือมากกว่าโรคอ้วน 

เก็บข้อมูลกว่า 45,000 คน พบคนเหงา 4 ใน 5 มีอาการเจ็บป่วยร่วมด้วย

งานวิจัยนี้วิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 45,000 คนจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้แบบสอบถามมาตรฐานควบคู่กับข้อมูลด้านสุขภาพ และประวัติทางการแพทย์ พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่รายงานว่ามีความเหงาระดับปานกลางถึงสูง มีภาวะสุขภาพจิตหรือสุขภาพกายที่แย่ลงในระดับที่น่ากังวล

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ตามลำพังเป็นเวลานาน ยิ่งมีความเสี่ยงต่อ ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร งานวิจัยยังระบุด้วยว่า ความเหงาอาจส่งผลร้ายแรงไม่แพ้กับ การสูบบุหรี่วันละ 15 มวน หรือการไม่ออกกำลังกายเลย

ไม่ใช่แค่เรื่องอารมณ์ แต่เปลี่ยนการทำงานของร่างกายจริง หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ ความเหงาสามารถส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายอย่างชัดเจน เช่น

  • เพิ่มระดับ ฮอร์โมนความเครียด (Cortisol)
  • ส่งผลต่อ การนอนหลับ และคุณภาพการฟื้นฟูร่างกาย
  • เร่งให้เกิด การอักเสบเรื้อรัง ที่เป็นพื้นฐานของโรคเรื้อรังหลายชนิด
  • ความเหงาในยุคดิจิทัล: สังคมเชื่อมต่อ แต่จิตใจห่างไกล

แม้จะอยู่ในยุคที่ทุกคนมีโอกาส “เชื่อมต่อ” กันได้ตลอดเวลา ผ่านโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีสื่อสาร แต่ปรากฏว่า ผู้คนกลับรู้สึกเหงามากขึ้น โดยเฉพาะในวัยทำงานและวัยรุ่นที่มีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวลดลง ขาดพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ “การมีผู้ติดตาม 5,000 คน ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว” นักวิจัยกล่าว

หน่วยงานสุขภาพทั่วโลกเริ่มตื่นตัว

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยอมรับว่า ความเหงาเป็นหนึ่งในปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาวะ (Social Determinants of Health) และหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ถึงขั้นจัดตั้งตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงา" เพื่อจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบ

แล้วเราจะป้องกันหรือรับมืออย่างไร?

นักวิจัยแนะนำว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ มีบทบาทสำคัญที่สุดในการลดผลกระทบจากความเหงา เช่น

  • การพูดคุยแบบลึกซึ้งกับคนสนิท
  • การเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน
  • การออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่น
  • การเข้าร่วมกลุ่มจิตอาสา

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง