งานวิจัยชี้ พื้นที่สีเขียวในเมือง ลดปัญหาสุขภาพจากภาวะโลกร้อน

พื้นที่สีเขียวในเมืองมีบทบาทสำคัญในการลดความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ปัญหาภาวะโลกร้อน ไม่เพียงส่งผลต่ออุณหภูมิและสิ่งแดวล้อมเปลี่ยนไป แต่ยังอันตรายต่สุขภาพของเราด้วย ยิ่งอากาศเปลี่ยนแปลงมาก หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน ก็ยิ่งทำให้ป่วยง่ายขึ้น มีการศึกษาล่าสุด ที่ชื่อว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ มีบทความสำคัญต่อการลดความเจ็บป่วยและโอกาสการเสียชีวิตที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้
การศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ลงใน BMJ Open ชี้ว่า การเพิ่มสวนสาธารณะ ต้นไม้ และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองอาจช่วยให้ประเทศต่างๆ รับมือกับอันตรายที่เกี่ยวข้องกับความร้อนและปรับปรุงสุขภาพของประชาชน
ตามสถิติวันที่ร้อนที่สุดของโลก พบว่า อุณหภูมิพื้นผิวอากาศเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 17.15 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิม
ยิ่งอากาศร้อน สุขภาพยิ่งแย่
วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกอุ่นขึ้น
ด้วยผลกระทบที่มีมหาศาล วิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน จึงทำการศึกษาเพื่อทบทวนผลที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของผู้คน อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ก่อนพบว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ช่วยลดอัตราความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากอากาศที่ร้อนขึ้นได้ รวมทั้งสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของผู้คนก็ดีขึ้นด้วย
การขยายตัวของเขตเมือง ต้องไม่ลดพื้นที่สีเขียว
อย่างที่รู้กันดีกว่า การขยายตัวของเขตเมืองทั่วโลก นำมาสู่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง หลายเมืองใหญ่มีอาคารสูงผุดขึ้นราวดอกเห็ด แน่นอนว่า การเพิ่มพื้นที่เหล่านี้ บางครั้งก็แลกมาด้วยพื้นที่ป่าไม่ใกล้เมืองที่ถูกลดอัตราส่วนลง
แต่จากการศึกษานี้ ยืนยันว่า พื้นที่สีเขียวในเมืองมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความร้อน และควรถูกนำเสนอเป็นกลยุทธ์ที่มีศักยภาพสำหรับการวางแผนเมืองเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรับปรุงสุขภาพของประชาชน
โดยในเขตที่มีต้นไม้เขียวมากกว่า จะมีอัตราความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเขตที่ต้นไม้น้อยหว่า
นอกจากนี้ พื้นที่สีเขียวในเมืองยังสามารถมีผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสามารถช่วยลดผลกระทบด้านสุขภาพในทางลบของอุณหภูมิสูงได้อีกด้วย
สิ่งนี้ สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ UN ที่กำหนดให้มีการจัดหาการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะเรื้อรัง ภายในปี 2573
การเก็บข้อมูลของนักวิจัย
นักวิจัยได้รวมเนื้อหาที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษระหว่างเดือนมกราคม 2543 ถึงธันวาคม 2565 และทบทวนการศึกษา 12 ชิ้นจากการรวบรวมเบื้องต้นมากกว่า 3,000 ชิ้นจากฮ่องกง ออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ โปรตุเกส และญี่ปุ่น
การศึกษาเหล่านี้รวมถึงการศึกษาทางระบาดวิทยา การสร้างแบบจำลอง และการจำลองสถานการณ์ รวมทั้งการวิจัยเชิงทดลองและการวิเคราะห์เชิงปริมาณ
การทบทวนแสดงให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวในเมือง เช่น สวนสาธารณะและต้นไม้ สามารถช่วยลดผลกระทบด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ของอุณหภูมิสูงได้ พื้นที่ที่มีพื้นที่สีเขียวมากกว่ามีอัตราความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนต่ำกว่าพื้นที่ที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง
การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเป็นตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพที่ประชาชนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่