สหรัฐฯ เล็งเปิดตัวโปรแกรมตรวจสอบระบบเลือกตั้งแบบใหม่ หวังใช้ทันเลือกตั้งประธานาธิบดี
ศูนย์ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต (Center for Internet Security - CIS) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา กำลังสร้างโปรแกรมทดสอบอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า
โดยปัจจุบัน รัฐต่าง ๆ กำลังเร่งทดสอบเทคโนโลยีที่จะถูกใช้ในการเลือกตั้งแบบแยกย่อยไปแต่ละรัฐ ขณะที่ศูนย์ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต (CIS) ต้องการสร้างโปรแกรมใหม่ที่จะมาช่วยตรวจสอบระบบต่าง ๆ ที่ใช้ในการเลือกตั้งที่เป็นมาตรฐานกลางในระดับประเทศ โดย CIS ตั้งเป้าว่าจะทดสอบในเดือนกันยายน 2023 ก่อนใช้งานจริงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024
แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยว่าโปรแกรมดังกล่าวมีหน้าตาเป็นอย่างไร และมีหน้าที่หลักในการทำงานแบบไหนกันแน่ แต่ปัจจุบัน หลายคนกำลังเริ่มสนใจโปรแกรมทดสอบนี้อย่างมาก ขณะที่มีผู้ท้าชิงหน้าใหม่ ๆ ที่คิดค้นระบบทดสอบเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ เช่น คณะกรรมาธิการของรัฐบาลกลางสหรัฐ ที่กำลังดำเนินโครงการโปรแกรมทดสอบส่วนตัวอยู่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังไม่มีความก้าวหน้าเพียงพอที่จะนำมาใช้ก่อนการเลือกตั้งในปี 2024
ขณะที่คริส วลาสชิน (Chris Wlaszin) รองประธานอาวุโสด้านการพัฒนาโปรแกรมและระบบเลือกตั้งของบริษัทอิเล็กชัน ซิสเต็มส์ แอนด์ ซอฟต์แวร์ (Election Systems & Software) บริษัทด้านการผลิตเครื่องลงคะแนนเสียงในสหรัฐฯ เผยว่า สิ่งประดิษฐ์นี้จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาการเลือกตั้ง
"ยิ่งมีเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งรู้จักมันมากเท่าไร พวกเขาก็จะขอให้ใช้ระบบนี้มากขึ้นเท่านั้น" วลาสซินกล่าว
ส่วนเจมี เรเมส (Jamie Remes) จากบริษัทผู้ผลิตระบบลงทะเบียนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ วีอาร์ ซิสเต็มส์ (VR Systems) กล่าวว่า “หนึ่งในคุณประโยชน์สำคัญของโปรแกรมนี้คือ ทำให้กระบวนการการรับรองคะแนนเสียงที่แตกต่างกันของแต่ละรัฐนำมาใช้ มีความสอดคล้องกันมากขึ้น”
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า โปรแกรมที่ศูนย์ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตกำลังทดสอบอยู่นี้จะสามารถช่วยพลิกโฉมการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 ได้ หากมีหลายรัฐสนใจรับระบบดังกล่าวไปใช้ นอกจากนั้น การมีระบบนี้คอยตรวจสอบ ก็จะยิ่งทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความรับผิดชอบและใส่ใจมากขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ระบบดังกล่าวอาจตกเป็นเป้าหมายหลักของผู้ที่ต้องการขัดขวาง และสร้างความคลางแคลงใจเกี่ยวกับความโปร่งใสของการเลือกตั้งครั้งนี้
ขณะที่ชาวสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งมองว่า ปัจจุบัน การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีมาช่วยเหลือโดยด่วน เนื่องจากในกระบวนการการเลือกตั้งที่มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ
เช่นกรณีที่รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเมืองของสหรัฐในการเลือกตั้งปี 2016 ที่ผ่านมา ด้วยการเจาะข้อมูลอีเมลของผู้ที่มีส่วนร่วมกับการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น คณะกรรมการแห่งชาติของพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee) และทีมการเลือกตั้งของฮิลลารี คลินตัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า การโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซียนั้น ส่งผลต่อคะแนนโหวตในสหรัฐฯ ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับชัยชนะไปหรือไม่
ที่มาของข้อมูล Interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ Clay Banks