นักวิจัยพบวิธีสกัด "แรร์เอิร์ธ" กลุ่มแร่หายาก จากขยะอิเล็กทรอนิกส์
แรร์เอิร์ธ (Rare Earth Elements) คือกลุ่มของแร่ที่มีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างมาก หลายประเทศที่มีไว้ครอบครองต่างมีอำนาจในการควบคุมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จนมีอำนาจต่อรองทางการค้าได้เลยทีเดียว ล่าสุดนักวิจัยได้คิดค้นวิธีที่จะรีไซเคิลแรร์เอิร์ธจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำแร่เหล่านี้หมุนเวียนมาใช้ใหม่
ปัจจุบันประเทศเป็นประเทศที่สามารถถลุงแร่แร์เอิร์ธออกมาได้ในปริมาณมาก และมีแร่สำรองในประเทศเยอะเป็นอันดับ 1 ของโลก จึงทำให้จีนมีอำนาจในการต่อรองทางการค้ากับอีกหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย เนื่องจากแรร์เอิร์ธจะถูกนำไปใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 200 ชนิด ตั้งแต่ชิปประมวลผลไปจนถึงชิ้นส่วนในรถยนต์ไฟฟ้า Tesla เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะสกัลแรร์เอิร์ธออกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้สารละลายกรดแก่ละลายส่วนประกอบอื่น ๆ ออก แต่วิธีการดังกล่าวกลับทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นพิษลงสู่แหล่งน้ำ จึงไม่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้
นักวิจัยจึงประยุกต์กระบวนการใหม่ที่เรียกว่า Joule heating ซึ่งเป็นกระบวนการที่เคยถูกใช้ในการสร้างกราฟีนขึ้นจากสารประกอบคาร์บอนประเภทอื่นด้วยความร้อนสูง โดยนักวิจัยได้วิเคราะห์แล้วว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ในการแยกแรร์เอิร์ธออกจากวัตถุดิบ 3 ประเภทนี้ ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์, เถ้าลอย (Fly ash - ละอองเถ้าน้ำหนักเบาได้จากการเผาถ่ายหิน) และโคลนแดง (Bauxite residue - คือส่วนที่หลงเหลือจากการถลุงแยกอะลูมิเนียมออกไซด์ออกจากแร่บ็อกไซต์)
ในกระบวนการ Joule heating จะประกอบด้วยหลอดบรรจุวัตถุดิบที่จะนำมารีไซเคิล ภายในหลอดจะมีขดคาร์บอนที่สามารถนำความร้อนสูงถึง 3,000 องศาเซลเซียสได้ เมื่อกระตุ้นขดคาร์บอนภายในหลอดบรรจุจะส่งผลให้ภายในหลอดเกิดความร้อนคล้ายเตาอบ ความร้อนในระดับสูงนี้จะช่วยสกัดเอาแรร์เอิร์ธออกมาจากวัตถุดิบ 3 ชนิดที่นำมาบรรจุลงในหลอดได้ในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering