ปัญญาประดิษฐ์จำลองภาพ ฉากหลังของภาพวาดที่มีชื่อเสียง
โอเพน เอไอ (OpenAI) ผู้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ดัล·อี (DALL·E) เปิดตัวฟังก์ชันการทำงานใหม่ล่าสุด เอาต์เพ้นติ้ง (Outpainting) ระบบปัญญาประดิษฐ์จำลองฉากหลังของภาพวาดที่มีชื่อเสียงได้อย่างสมจริง สร้างบรรยากาศรอบ ๆ ภาพวาดที่มีชื่อเสียงได้อย่างสวยงาม ซึ่งในอดีตผู้ชมงานศิลปะทำได้เพียงแค่จินตนาการเท่านั้น
ระบบปัญญาประดิษฐ์ดัล·อีใช้การสร้างภาพบรรยากาศรอบ ๆ ภาพวาดจากการวิเคราะห์โครงสร้าง สีสัน แสงเงาของภาพ กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการป้อนข้อมูลของมนุษย์หรือมีมนุษย์ช่วยออกแบบแต่เกิดจากการประมวลผลของระบบปัญญาประดิษฐ์ บรรยากาศของภาพวาดถูกสร้างขยายให้กว้างขึ้นมากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความสวยงามของภาพเอาไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
ตัวอย่างเช่น การสร้างบรรยากาศรอบ ๆ ภาพชื่อว่าสาวใส่ต่างหูมุก (Girl with a Pearl Earring) อันมีชื่อเสียงของจิตรกรโยฮันเนิส เฟอร์เมร์ ชาวฮอลแลนด์ ที่ถูกวาดขึ้นในปี 1665 เปิดหนทางใหม่ในการชมงานศิลปะที่มองเห็นบรรรยากาศรอบ ๆ ภาพวาดราวกับว่ามันถูกวาดขึ้นมาโดยจิตรกรอันมีชื่อเสียงในอดีต
นอกจากการสร้างบรรยากาศรอบ ๆ ภาพวาด ระบบปัญญาประดิษฐ์ดัล·อียังสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของสมองมนุษย์ด้วยการขยายภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น เช่น ภาพถ่ายแอบบีย์ โรด (Abbey Road) ของวงดนตรีเดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) ในตำนานของประเทศอังกฤษ นับเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของระบบปัญญาประดิษฐ์ดัล·อี
สำหรับระบบปัญญาประดิษฐ์ดัล·อีถูกพัฒนาขึ้นโดยโอเพน เอไอ บริษัทที่มีอีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัท เทสลา (Tesla) และบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ให้การสนับสนุนโดยเปิดตัวระบบปัญญาประดิษฐ์ดัล·อี ครั้งแรกในช่วงปี 2021 โดยในขณะนั้นมีความสามารถเพียงการสร้างภาพวัตถุที่มีโครงสร้างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนเท่านั้นและภาพที่ออกมาจากระบบดูไม่สมบูรณ์และมองเห็นสัดส่วนที่ละเอียด
ข้อมูลและภาพจาก www.theverge.com