รีเซต

ไฟฟ้าแพง-ไฟดับบ่อย? ชาวปากีฯไม่ง้อรัฐบาล ลุกฮือติด “โซลาร์เซลล์” ใช้เอง

ไฟฟ้าแพง-ไฟดับบ่อย? ชาวปากีฯไม่ง้อรัฐบาล ลุกฮือติด “โซลาร์เซลล์” ใช้เอง
TNN ช่อง16
16 พฤษภาคม 2568 ( 10:00 )
10

ในขณะที่หลายประเทศกำลังถกเถียงเรื่องพลังงานสะอาดว่าต้องใช้เงินอุดหนุนมหาศาลหรือรอแรงขับจากภาครัฐ ปากีสถานกลับกลายเป็นตัวอย่างที่ท้าทายกรอบความคิดเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะประเทศที่มีประชากรกว่า 240 ล้านคน กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยเฉพาะในด้านการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งขยายตัวจากครัวเรือนไปสู่ชุมชนอย่างแพร่หลาย โดยไม่มีโครงการระดับชาตินำร่องแบบประเทศอื่น


ต่างจากประเทศอื่นที่พลังงานสะอาดเกิดจากนโยบายรัฐหรือการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัท ปรากฏการณ์ในปากีสถานเป็นการปฏิวัติจากล่างขึ้นบนอย่างแท้จริง ครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมากหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อหลีกหนีค่าไฟฟ้าที่แพงลิบและไฟดับที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง


ราคาค่าไฟที่พุ่งขึ้นมากกว่า 150% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลายเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้แผงโซลาร์ดูคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ขณะที่แผงโซลาร์จากจีนที่ราคาถูกลงอย่างต่อเนื่องก็ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น

การนำเข้าแผงโซลาร์ของปากีสถานในปี 2024 พุ่งสูงถึง 17 กิกะวัตต์ มากเป็นอันดับ 3 ของโลก และแม้จะไม่มีตัวเลขทางการที่แน่ชัด แต่คาดว่ามีการติดตั้งไปแล้วราว 15 กิกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ


สิ่งที่ตามมาคือการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับระบบไฟฟ้า ผู้คนไม่ได้เป็นเพียง "ผู้ใช้ไฟ" อีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็น "ผู้ผลิตพลังงาน" ด้วยตัวเอง พลังงานแสงอาทิตย์จึงไม่ได้เป็นแค่ทางเลือก แต่กลายเป็นความจำเป็นในบริบทที่รัฐไม่สามารถจัดหาไฟฟ้าที่เชื่อถือได้


แม้ภาพรวมจะดูสดใส แต่การเติบโตที่รวดเร็วของโซลาร์ก็มีผลกระทบที่ซับซ้อน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิมที่สร้างขึ้นในยุคก่อน อาจเข้าสู่วิกฤตทางการเงิน หากผู้ใช้จำนวนมากทยอยออกจากระบบไปใช้โซลาร์ของตนเอง และสิ่งนี้จะสร้าง “วงจรย้อนกลับ” ที่น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อรายได้จากค่าไฟฟ้าลดลงก็ทำให้ระบบไม่สามารถบำรุงรักษาได้ดี จนทำให้คนยิ่งหนีไปใช้โซลาร์มากขึ้น สุดท้ายคนจนที่ยังอยู่ในระบบกลับต้องจ่ายแพงกว่าเดิม

การปฏิวัติพลังงานของปากีสถานจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้วย คนที่มีทุนสามารถเข้าถึงแผงโซลาร์ได้ก่อน ส่วนคนจนยังต้องทนอยู่กับไฟฟ้าจากฟอสซิลที่ราคาแพงและไม่เสถียร


สิ่งที่เกิดขึ้นในปากีสถานกำลังส่งสัญญาณสำคัญถึงประเทศอื่นในโลกกำลังพัฒนา ว่าพลังงานสะอาดไม่จำเป็นต้องเริ่มจากนโยบาย แต่สามารถขับเคลื่อนจาก "แรงกดดันจากความอยู่รอด" ได้จริง ราคาที่ลดลงของเทคโนโลยี ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลสำหรับประชาชนโดยตรง


แต่ขณะเดียวกัน มันก็สะท้อนว่าหากไม่มีการวางแผนและลงทุนรองรับจากรัฐ การเปลี่ยนผ่านพลังงานอาจสร้างปัญหาใหม่ในระบบไฟฟ้าเดิม และทำให้คนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

.

หากการปฏิวัติพลังงานของปากีสถานสามารถผ่านพ้นความท้าทายนี้ได้สำเร็จ มันอาจกลายเป็นต้นแบบใหม่ของพลังงานสะอาดในโลก แต่หากล้มเหลว ก็อาจถูกจารึกเป็นบทเรียนราคาแพงของการเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทางได้อีกเช่นกัน

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง