รีเซต

"กรุงศรี" มอง "เศรษฐกิจไทย" เผชิญขาลง GDP เสี่ยงโตแค่ 1.3% จับตา "ภาษีสหรัฐฯ" ชี้ขาด

"กรุงศรี" มอง "เศรษฐกิจไทย" เผชิญขาลง GDP เสี่ยงโตแค่ 1.3% จับตา "ภาษีสหรัฐฯ" ชี้ขาด
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2568 ( 17:16 )
13

วิจัยกรุงศรี ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นของประเทศสำคัญของโลก รวมถึงไทย จากนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น มีความเสี่ยงขาลงที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มโอกาสให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยขนาดการปรับลด อาจขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการเจรจาการค้า

เศรษฐกิจไทยชะลอลงในเดือนมี.ค.68 จากการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว หลายสถาบันทยอยปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงใกล้ระดับ 2% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนมี.ค.ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับลดลงในทุกหมวด (-0.5% MoM) โดยเฉพาะในหมวดบริการที่ลดลงจากกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ลดลง

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ปรับลดลงต่อเนื่อง (-1.0% MoM) โดยปรับลดลงในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดยานพาหนะเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างทรงตัว สำหรับการส่งออก หากหักทองคำและขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน (-0.2% MoM)

แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ในเดือนมี.ค.68 จะชะลอลงจากเดือนก่อน แต่โดยภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2568 เศรษฐกิจยังมีการฟื้นตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน จากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกสินค้าที่เร่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากขึ้น สะท้อนจากการปรับลดคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง ธปท. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งล่าสุด ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยในปีนี้ลงเหลือ 2% และ 2.1% ตามลำดับ

นอกจากนี้ Moody’s สถาบันจัดอันดับความเชื่อถือได้ปรับลดแนวโน้ม (Outlook) ของไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงลบ (Negative) เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นช้าหลังวิกฤตโควิด และมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ขณะเดียวกัน สถานะทางการคลังอ่อนแอลงจากระดับหนี้สาธารณะที่เร่งตัวขึ้น อีกทั้งยังเผชิญความเสี่ยงที่ภาคส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ จากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

สำหรับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 เม.ย.68 ซึ่งมีมติ 5 ต่อ 2 ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า จากประเทศเศรษฐกิจแกนหลัก ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยคาดว่า GDP ไทยในปี 2568 จะขยายตัว 2% กรณีการเจรจาการค้ามีความยืดเยื้อและสหรัฐฯ คงภาษีไว้ที่ 10% แต่กรณีที่รุนแรงขึ้น หากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯอยู่ในอัตราที่สูงอาจส่งผลให้ GDP เติบโตเพียง 1.3%

ภายใต้บริบทที่ความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยทวีแรงขึ้น กนง. ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2568 ลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 2.9% เหลือ 2.0% (Reference scenario) พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะลดลงต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1% จึงตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 1.75% ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้นับเป็น pre-emptive move ในการรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง สาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง

กนง. ยังส่งสัญญาณเชิงผ่อนคลายอย่างชัดเจน หรือเปิดโอกาสสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม โดยในแถลงการณ์ระบุว่า "นโยบายการค้าโลกของประเทศเศรษฐกิจหลักในอนาคต ยังคาดเดาได้ยาก ส่งผลต่อการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในระยะต่อไป" นอกจากนี้ ในการแถลงข่าว ธปท. ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้เกี่ยวกับวัฏจักรขาลงของดอกเบี้ย โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และความไม่แน่นอนที่อาจยืดเยื้อไปถึงปีหน้า

"ด้วยจุดยืนเชิงผ่อนคลายของ กนง.ข้างต้น และการสื่อสารในการแถลงข่าวของ ธปท.ดังกล่าว วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายน เนื่องจากความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้า จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออก" บทวิเคราะห์ ระบุ

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นช่วงที่ กนง.ประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ จะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้นนั้น แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ terminal rate จึงขึ้นอยู่กับพัฒนาการและการความคืบหน้าของการเจรจาการค้าเป็นสำคัญ

เศรษฐกิจสหรัฐฯในเดือนเม.ย.68 แม้การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดที่ 1.77 แสนตำแหน่ง แต่ชะลอลงจาก 1.85 แสนตำแหน่งในเดือนมี.ค. ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.2% อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ (JOLTS) ในเดือนมี.ค. ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 7.19 ล้านตำแหน่ง

แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานจะออกมาดีกว่าคาด แต่ข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภค การบริโภคภาคเอกชน PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ ยังคงบ่งชี้ถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และสอดคล้องกับ GDP ในไตรมาส 1 ที่หดตัวลง -0.3% QoQ annualized ซึ่งไม่เพียงเป็นผลจากการเร่งนำเข้าล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านราคาจากปรับขึ้นภาษีศุลกากร แต่ยังเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะการบริโภคที่เติบโตต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส

"ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรี คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มลดดอกเบี้ยตั้งแต่กลางปีนี้ และมีแนวโน้มปรับลดสู่ระดับ 3.50–3.75% ภายในสิ้นปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจ และผ่อนคลายภาวะการเงินในระยะข้างหน้า" บทวิเคราะห์ระบุ

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% พร้อมปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 จาก 1.1% เหลือ 0.5% และคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จาก 2.4% เหลือ 2.2% จากข้อพิพาททางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ของญี่ปุ่นชะลอลง อย่างไรก็ตาม BOJ ยังส่งสัญญาณยึดแนวทางการขึ้นดอกเบี้ย

เศรษฐกิจญี่ปุ่น กำลังเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่คาดนำไปสู่การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ และกระทบกับภาคการผลิตและส่งออกของญี่ปุ่น แม้การอ่อนค่าของเงินเยน และการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนปรับภาษี (Frontloading) จะหนุนการส่งออกในไตรมาสแรก แต่การแข่งขันจากสินค้าจีนในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น อุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงจากนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) โดยเฉพาะหากอัตราภาษีกลับไปอยู่ที่ระดับ 24% ตามที่ทรัมป์ประกาศไว้รอบแรก หรือการเจรจาล้มเหลว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะต่อไป

"ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีวิจัยจึงคาดว่า BOJ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อเนื่อง ก่อนพิจารณาปรับขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี" บทวิเคราะห์ ระบุ

ทางการจีน (NBS) รายงานตัวเลข PMI ภาคการผลิตพลิกกลับมาหดตัวจาก 50.5 ในเดือนมี.ค.เป็น 49 ในเดือนเม.ย. ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.66 เช่นเดียวกับดัชนีย่อยคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก ซึ่งหดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี จาก 49 เป็น 44.7 ส่วนดัชนี PMI นอกภาคการผลิตชะลอลงจาก 50.8 เป็น 50.4 ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ของผู้พัฒนาอสังหาฯ 100 อันดับแรกหดตัวชะลอลงจาก -11.4% YoY เป็น -8.7%

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจล่าสุดของจีน สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการชะลอตัวในภาคการผลิต จากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กันระหว่างจีนและสหรัฐฯ จนแตะระดับสูงกว่า 100% รวมถึงแรงกดดันจากภาคอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงสงวนท่าที และไม่เร่งเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ แต่เลือกใช้แนวทางการช่วยเหลือธุรกิจแบบเฉพาะจุด โดยงดเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ บางรายการ เช่น เภสัชภัณฑ์ ไมโครชิป และอีเทน รวมถึงให้ผู้ประกอบการระบุสินค้าสำคัญที่ต้องการงดเว้นภาษี

"แม้ท่าทีระหว่าง 2 ชาติ เริ่มผ่อนคลายลงบ้าง แต่วิจัยกรุงศรีมองว่า จีนกำลังเลือกแบกรับผลกระทบเชิงลบในระยะสั้น เพื่อสร้างแรงกดดันอย่างหนักให้กับสหรัฐฯ และเป็นแต้มต่อในการเจรจาในระยะข้างหน้า" บทวิเคราะห์ ระบุ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง