รวมประโยชน์ของ "ตัวเงินตัวทอง"
จากข่าวที่ รศ.ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความพยายามที่จะวิจัยศึกษาคุณสมบัติทางยาจากเลือด "ตัวเงินตัวทอง" (Varanus salvator) เพื่อดูฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็ง แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคอุบัติใหม่ รวมทั้ง COVID-19 ซึ่งหากบรรลุผลได้ตามเป้าหมายจะกลายเป็นรายแรกของโลก
วันนี้ trueID จะพาไปดูประโยชน์ของสัตว์ชนิดนี้ว่านอกจากนำเลือดไปทำวัคซีนแล้วยังมีอะไรที่ใช้ประโยชน์ได้อีก
รู้จัก "ตัวเงินตัวทอง"
ตัวเงินตัวทอง หรือ เหี้ย (Varanus salvator) เป็นสัตว์เลื้อยคลานในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศบังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดีย จนถึงอินโดจีน และเกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ ในประเทศไทยจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทหนึ่ง
สัตว์ตระกูลเหี้ยในประเทศไทยมีอยู่ 4 ตระกูลคือ 1. เหี้ย 2. แลนหรือตะกวด 3. เห่าช้าง อยู่ทางภาคใต้ และ 4. ตุ๊ดตู่
ครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพูดกันเป็นวงในว่า จะเปลี่ยนชื่อจากตัวเหี้ยเป็น "วรนัส" หรือ "วรนุส" หรือ "วรนุช" (สกุล Varanus อ่านเป็นภาษาละตินว่า วารานุส ซึ่งคล้ายกับคำว่า วรนุช)
จนเกิดเป็นกระแสข่าวอยู่ช่วงหนึ่งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งหลังจากที่มีกระแสข่าวนี้ออกมา คำว่าวรนุชนั้นก็ถูกนำไปใช้ในการสื่อความหมายไปในทางเสื่อมเสียบนอินเทอร์เน็ต และส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ชื่อวรนุชไปโดยปริยาย
ที่มาของคำว่า "ตัวเหี้ย"
ชื่อว่าคำว่าเหี้ยเริ่มกลายมาเป็นคำหยาบและคำด่าทอในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากก่อนหน้านั้น เหี้ย ก็ยังถูกบันทึกไว้ในวรรณกรรมของเจ้าฟ้ากุ้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาในฐานะเป็นแค่ชื่อเรียกสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้เท่านั้น โดยเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วคำว่า "ตั่วเฮีย" (จีน: 大哥) ซึ่งหมายถึง พี่ชายคนโต หรือพี่ใหญ่ เนื่องจากในสมัยนั้นมีการปราบปรามฝิ่น และชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามขณะนั้นถือได้ว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากการปราบปรามฝิ่น จึงออกล้างแค้นโดยฆ่าฟันชาวสยามล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นชาวสยามในเวลานั้นจึงได้ใช้คำว่า ตั่วเฮีย เป็นคำด่าทอและเพี้ยนมาเป็น "ตัวเหี้ย" หรือ "เหี้ย" ในที่สุด
ประโยชน์ของ "ตัวเงินตัวทอง"
1. ช่วยกำจัดซากสัตว์ มีระบบการย่อยอาหารที่ดีเยี่ยม ในกระเพาะมีน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดรุนแรงและแบคทีเรียสำหรับย่อยสลายซากเน่าโดยเฉพาะ
2. ช่วยกินไข่งูพิษ ไม่เฉพาะไข่งูพิษ ตัวเงินตัวทอง กินไข่ของสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งปลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวเงินตัวทอง มิใช่สัตว์นักล่า แต่เป็นสัตว์กินซากโดยธรรมชาติ บางครั้งอาจกินเหี้ยขนาดเล็กกว่าเป็นอาหารได้
3. ตัวมันเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างแท้จริง ต่างประเทศนำไปทำกระเป๋า เข็มขัดราคาแพงมาก ส่วนเครื่องใน ดี ตับ เป็นยารักษาโรคหัวใจ มีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงกัน เพื่อนำเนื้อไปใช้ในการบริโภค โดยเฉพาะเนื้อบริเวณส่วนโคนหางที่เรียกว่า "บ้องตัน"ในต่างประเทศนิยมกินกันราคาแพงมาก และหนังไปทำเครื่องหนัง เช่น กระเป๋า, เข็มขัด เช่นเดียวกับจระเข้ และในทางวิชาการยังมีการเก็บและตรวจสอบดีเอ็นเอของเหี้ย โดยภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษาถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม เพื่อจะพัฒนาให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจต่อไปในอนาคตอีกด้วย
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก