รีเซต

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (26 มิ.ย. 2565)

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (26 มิ.ย. 2565)
TeaC
26 มิถุนายน 2565 ( 18:22 )
274
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (26 มิ.ย. 2565)

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุด ผู้นำรัสเซีย กล่าวตำหนิว่า ชาติตะวันตกพยายามจะทำให้ทุกคนทั่วโลกเกิดความวิตกจริต อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (25 มิ.ย. 2565)

 

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (26 มิ.ย. 2565)


ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 เตรียมประชุมกันที่เยอรมนี หาเรื่องวิกฤตยูเครนและเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทองคำรัสเซีย 

เหล่าผู้นำโลกรวมทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เดินทางถึงเมืองนิวนิคของเยอรมนีแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 เป็นเวลา 3 วัน ในวันที่ 26-28 มิถุนายนนี้

 

การประชุมครั้งนี้ เน้นการหารือเรื่องวิกฤตในยูเครน และเพิ่มการกดดันต่อรัสเซียที่เปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารและพลังงานทั่วโลก

 

แหล่งข่าวระบุว่า ไบเดน และเหล่าผู้นำกลุ่ม G7 จะร่วมกันเห็นชอบเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร ด้วยการสั่งห้ามนำเข้าทองคำใหม่จากรัสเซีย และยังจะหารือร่วมจัดตั้งสโมสรสภาพอากาศ ร่วมกันหามาตรการต่อสู้ปัญหาโลกร้อน โดยการประชุมครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา ทางการเยอรมนีระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างการประชุมมากถึงเกือบ 2 หมื่นนาย

 

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ที่เยอรมนี บรรดาผู้นำกลุ่ม G7 จะเดินทางไปร่วมประชุมกันต่อ ที่เวทีของการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต เริ่มวันพุธนี้ (29 มิถุนายน) ที่กรุงมาดริดของสเปน และยังมีผู้นำจากกลุ่มประเทศนอกองค์การนาโต ได้รับเชิญเข้าร่วมด้วย รวมทั้งผู้นำญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

 

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ซึ่งเป็นนายกฯ ญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมนาโต เผยว่า จะใช้โอกาสนี้ ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและนาโต ให้เข้าสู่ระดับความร่วมมือมิติใหม่ด้วย แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด

 

ขณะที่ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน เผยเมื่อวันเสาร์ว่า ยูเครนจะเอาชนะและยึดคืนทุกเมืองที่ได้สูญเสียไปให้กับรัสเซีย รวมทั้งเมืองเซียเวียโรโดเนตส์ก โดเนตส์กและลูฮันส์ก ในภูมิภาคตะวันออก

 

พร้อมยอมรับว่า การต่อสู้เริ่มมีปัญหายุ่งยากที่จะรับมือ ยูเครนถูกรัสเซียโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกว่า การคว่ำบาตรรัสเซียไม่เพียงพอที่จะช่วยยูเครนได้ ยูเครนยังต้องการอาวุธเพิ่มโดยเฉพาะระบบป้องกันทางอากาศ ยูเครนต้องการเป็นอย่างมาก มากกว่าที่อื่นใดในโลก

 

รัสเซียเตรียมส่งระบบขีปนาวุธ “อิสกันเดอร์-เอ็ม” ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ ให้เบลารุส รับมือการเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก

กระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย แถลงว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้แจ้งต่อประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุสในวันเสาร์ (25 มิถุนายน) ว่า รัสเซียจะจัดส่งระบบขีปนาวุธที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ ให้เบลารุส

หลังการประชุมร่วมกับปูติน ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประธานาธิบดีลูคาเชนโก แสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายที่ “ก้าวร้าว”, “เผชิญหน้า” และ “น่ารังเกียจ” ของลิทัวเนียและโปแลนด์ ประเทศเพื่อนบ้าน

 

ผู้นำเบลารุส เรียกร้องให้ปูตินช่วยเพิ่ม “การตอบโต้ที่สมน้ำสมเนื้อ” ต่อสิ่งที่เขาบอกว่า มีการประจำการเที่ยวบินติดอาวุธนิวเคลียร์ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต อยู่ใกล้พรมแดนเบลารุส

 

ปูติน กล่าวว่า เขายังไม่เห็นความจำเป็นในการตอบโต้ดังกล่าว แต่เครื่องบินรบ ซู-25 ของเบลารุสที่ผลิตโดยรัสเซีย สามารถยกระดับ หรืออัพเกรด ได้ในโรงงานของรัสเซีย

 

สรุปผลการประชุมของกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ที่อ้างคำกล่าวของปูติน ระบุว่า รัสเซียจะย้ายระบบขีปนาวุธยุทธศาสตร์ “อิสกันเดอร์-เอ็ม” ไปประจำการในเบลารุส ซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งขีปนาวุธปกติและขีปนาวุธร่อน และทั้งสองแบบสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้

 

ระบบขีปนาวุธเคลื่อนที่นำวิถี “อิสกันเดอร์-เอ็ม” ซึ่งทางนาโตเรียกมันว่า “เอสเอส-26 สโตน” (SS-26 Stone) ถูกนำเข้ามาทดแทนระบบขีปนาวุธสกั๊ดในยุคโซเวียต โดยขีปนาวุธนำวิถีทั้งสองชนิด มีพิสัยทำการ 500 กิโลเมตร และสามารถใช้ยิงแบบธรรมดา หรือติดหัวรบนิวเคลียร์ได้

 

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่รัสเซียส่งทหารเข้ายูเครนเมื่อ 4 เดือนก่อน พร้อมกล่าวหาว่า นาโตวางแผนยอมรับยูเครน และใช้ยูเครนเป็นฐานข่มขู่คุกคามรัสเซีย 

 

ผู้นำรัสเซีย กล่าวตำหนิว่า ชาติตะวันตกพยายามจะทำให้ทุกคนทั่วโลกเกิดความวิตกจริต

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวตำหนิชาติตะวันตก ในระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์ ที่จัดขึ้นผ่านการประชุมออนไลน์ ซึ่งในปีนี้มีจีนเป็นเจ้าภาพ โดยปูติน ระบุว่า ชาติตะวันตก พยายามจะทำให้ทุกคนเกิดความวิตกกังวล ว่าการส่งออกธัญพืชจากยูเครนที่ถูกขัดขวาง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารในหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้

 

ปูติน ระบุเพิ่มเติมว่า รัสเซียและสหรัฐฯ ได้ประเมินข้อมูลแล้วว่า มีธัญพืชราว 5-6 ล้านตัน และข้าวโพดอีกราว 7 ล้านตัน ติดอยู่ที่ท่าเรือยูเครน ซึ่งแน่นอนว่า แม้พวกมันจะถูกส่งออกได้ตามปกติ แต่ด้วยปริมาณเพียงแค่นี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้วิกฤตขาดแคลนอาหารทั่วโลกดีขึ้น

 

นอกจากนี้ เขายังบอกด้วยว่า ขอย้ำอีกครั้งว่า รัสเซียไม่ได้ขัดขวางการส่งออกธัญพืชจากยูเครน และพร้อมแล้วที่จะรับประกันความปลอดภัยของเรือขนส่งสินค้าที่จะเดินทางจากท่าเรือยูเครน ไปยังน่านน้ำสากล แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า ทหารยูเครนจะต้องเก็บกู้กับระเบิดทั้งหมดที่อยู่บริเวณท่าเรือ และน่านน้ำใกล้เคียงเสียก่อน

 

ข้อมุล TNN World

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง