สภาผู้บริโภค แนะรัฐ ดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด
จากวิกฤตสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมาทำให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะเดียวกันดัชนีคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของไทยก็พุ่งสูงติดอันดับโลก จนทำให้จำนวนผู้ป่วยจากฝุ่นพิษเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น
ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 สภาผู้บริโภคจัดรายการ ‘เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร ในหัวข้อ “ฝนไป ฝุ่นมา พ.ร.บ.อากาศสะอาดอยู่ไหน?” ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค และ ยูทูบ tccthailand โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายภาคประชาสังคมและตัวแทนภาครัฐเข้าร่วมพูดคุยถึงทางออกในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ พรรคการเมือง และ ภาคประชาชนได้เสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมด 5 ฉบับ โดยฉบับของภาคประชาชนได้มีการรวบรวมรายชื่อผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดต่อรัฐสภาไปแต่ถูกปัดตก เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินและต้องได้รับการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ผ่านไป 1 ปีแล้วกฎหมายยังไม่ได้รับการพิจารณา
รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ว่า กฎหมายปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่มองไม่เห็น ขณะที่กฎหมายที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมยังกระจัดกระจายอยู่ในแต่ละหน่วยงาน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขถึงต้นตอปัญหาได้ เพราะกฎหมายเดิมที่มีอยู่ไม่ได้ออกแบบเรื่องคุณภาพอากาศที่มีความซับซ้อนมากกว่าทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เช่น การให้สิทธิประชาชนได้หายใจในอากาศสะอาด และการเข้าไปควบคุมกิจกรรมที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ หรือกำหนดมาตรการที่จะสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษร่วมดำเนินการเพื่อลดปัญหาด้วย
ขณะที่ความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดนั้น ปัจจุบันยังคงค้างคาอยู่ที่การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังจากที่เครือข่ายอากาศสะอาดได้ยื่นต่อรัฐสภาในสมัยประชุมเมื่อต้นปีที่ผ่านมาและประธานรัฐสภาได้ชี้ว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญต้องขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีก่อน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิจารณาและยังคงค้างอยู่ที่นายกรัฐมนตรีคนก่อน จนกระทั่งมีการยุบสภาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังไม่ได้พิจารณาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวว่า ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่มีอยู่หลายฉบับ คือ ทำให้เห็นว่าบางฉบับมีการกำหนดขั้นตอนการควบคุมมลพิษที่อาจจะไม่มีการแก้ปัญหา จนกลายเป็นการลงทะเบียน “ฟอกเขียว” (Green Washing Registration หรือ การเปลี่ยนภาพพจน์องค์กรธุรกิจจากผู้ที่ปล่อยสารพิษกลายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ให้กับธุรกิจที่ปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะนอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นแล้ว ยังจะเป็นปัญหาต่อกระบวนการที่ทำให้ประชาชนได้มีสิทธิในอากาศสะอาดอีกด้วย
ขณะที่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษกำลังพิจารณาถึงจุดแข็งของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดในแต่ละร่างออกมาเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.มีหลายฉบับและมีหลากหลายเนื้อหาที่อาจสร้างปัญหาอีกในอนาคต บางร่างไม่ได้ลงในรายละเอียด บางร่างไม่มีกลไกเรื่องการจัดการในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจึงได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันจากภาคประชาสังคม เพื่อดึงจุดแข็งในการแก้ไขปัญหาและทำให้ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด สมบูรณ์และแก้ปัญหาได้จริงในอนาคต
“การแก้ปัญหาฝุ่นมีวิธีคิดที่แตกต่างจากการแก้ปัญหามลพิษปกติ หลายคนอาจจะคิดว่าจะต้องมีผู้ร้ายที่จะต้องสร้างมลพิษตัวนั้นมา แต่ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่เกิดจากหลาย ๆ มิติ หลาย ๆ กิจกรรม ทั้งการพัฒนาการเกษตร การจราจร การมีชีวิตความเป็นอยู่ แม้แต่การเลือกกิน เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นการมองปัญหาฝุ่นเป็นผู้ร้ายและหาตัวผู้ร้ายคงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้สำเร็จ แต่จะต้องอาศัยทุกภาคส่วนมาช่วยกันหาทางออกและแก้ปัญหาในเรื่องนี้เพราะเป็นปัญหาที่ทุกคนมีส่วนทำให้เกิดขึ้น” ปิ่นสักก์ กล่าว
ส่วน นางสุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมอย่างสภาลมหายใจเชียงใหม่และสภาลมหายใจภาคเหนือสนับสนุนกฎหมายที่จะมาบูรณาการและคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และร่วมลดมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นทางออกที่สำคัญและต้องร่วมมือกัน รวมทั้งปิดจุดอ่อนของร่างกฎหมายของทุกฉบับ ที่ผ่านมาภาครัฐและภาคประชาสังคมเห็นปัญหาตรงกันว่าต้องบริหารจัดการร่วมกัน ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นตัวร่างกฎหมายต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิด เปลี่ยนทั้งองค์ประกอบของกฎหมายและอาจไม่ใช่กฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยงานเดียว ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าในการดำเนินการร่างกฎหมายในเรื่องนี้
ส่วนมาตรการระยะสั้นของฝุ่น PM2.5 ที่กำลังมานั้น สุรีรัตน์ กล่าวว่า มาตรการสำคัญที่อยากให้เป็นทางออกคือต้องเสนอข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและให้ความสำคัญกับการรายงานสถานการณ์โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากเพิ่มขึ้น อีกทั้งตัวเลขเหล่านี้ควรถูกนำเสนอและให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่นำเสนอให้กับประชาชนและรัฐบาลได้รับทราบปัญหา
ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามสิทธิของผู้บริโภคสากล โดยประเทศไทยได้รับรองพันธะกรณีเรื่องนี้กับสหประชาชาติ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาผู้บริโภคในภาคเหนือได้เดินหน้าใช้สิทธิฟ้องคดีในประเด็นมลพิษทางอากาศ ขณะที่สภาผู้บริโภคได้ขับเคลื่อนและผลักดันการบริการขนส่งสาธารณะ รวมถึงการจัดการผังเมืองของกรุงเทพมหานครให้เป็นสีเขียวมากขึ้น ไม่ใช่ผังเมืองที่เป็นอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม แม้สภาผู้บริโภคอาจไม่ได้ทำงานโดยตรงในเรื่องปัญหา PM2.5 แต่เชื่อว่าการทำให้คนใช้บริการขนส่งมวลชนเป็นการลด PM2.5 โดยที่ผ่านมามีการสนับสนุนให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายเพื่อให้ทุกคนใช้บริการได้ และทำให้ลดปัญหาเรื่องฝุ่นได้อย่างมีนัยยะสำคัญจากจำนวนการใช้รถยนต์ที่ลดลง
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับที่มีการลงรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อให้คนที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต้องรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดความรับผิดจากการก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ จะทำให้ผู้ที่เผาไร่ข้าวโพด หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยอากาศพิษเกินมาตรฐานมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นความรับผิดเหล่านี้จะถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายฉบับนี้อย่างไรเพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหา
ปิดท้ายที่ รศ.นพ.มงคล เหล่าอารยะ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องมีมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีคนไข้ที่มีอาการระคายเคืองบริเวณตา มีน้ำมูกไหล จาม และคนไข้ที่เป็นโรคปอดและหัวใจมีเยอะมากขึ้น รวมทั้งยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคที่รุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังพบผลการศึกษาค่อนข้างชัดเจนว่าในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงสัมพันธ์โดยตรงกับการเข้ารับการรักษาพยาบาลของคนไข้ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันและหัวใจขาดเลือดที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอาการเส้นเลือดสมองขาดเลือดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นฝุ่นส่งผลเกือบทุกอวัยวะ จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลในระยะยาว โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับ PM2.5 เป็นระยะเวลาหลาย ๆ ปี ในอนาคต 10 ปีหรือ 20 ปีจะมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่ เนื่องจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งที่สำคัญและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมระดับเซลล์ และทำให้เกิดมะเร็งในระยะยาวได้