รีเซต

คีโต-ทำ IF ช่วยลดผลข้างเคียงทำคีโม สถาบันมะเร็งตอบชัด จริงหรือไม่?

คีโต-ทำ IF ช่วยลดผลข้างเคียงทำคีโม สถาบันมะเร็งตอบชัด จริงหรือไม่?
TNN ช่อง16
25 ธันวาคม 2565 ( 15:46 )
88

วันนี้ ( 25 ธ.ค. 65 ) ตามที่มีข้อมูลในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง การรับประทานอาหารแบบคีโต หรือทำ IF และกินผักที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์ เป็นวิธีที่ช่วยลดผลข้างเคียงในการทำคีโม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีคลิปแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพโดยระบุว่าการรับประทานอาหารแบบคีโต หรือทำ IF และกินผักที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์ เป็นวิธีที่ช่วยลดผลข้างเคียงในการทำคีโม ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าคีโมหรือเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้ยาหลายรูปแบบ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยการทำคีโมอาจมีผลทำให้เซลล์ปกติของร่างกายถูกทำลาย โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เบื่ออาหาร ผมร่วง ร้อนใน มีแผลในเยื่อบุต่าง ๆ ภูมิต้านทานต่ำ เป็นต้น อาการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยา รวมทั้งสภาวะความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย

ทั้งนี้ อาการข้างเคียงดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหยุดการรักษาอาการต่าง ๆ ก็จะหายไป จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าวิธีลดผลข้างเคียงในการทำคีโม โดยเน้นการกินอาหารที่มีไขมันและโปรตีน ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล (การกินคีโต) การอดอาหารโดยการทำ Intermittent Fasting (IF) รวมทั้งการกินผักที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์นั้น ไม่สามารถลดผลข้างเคียงในการทำคีโมได้ เนื่องจากหากร่างกายของผู้ป่วยที่ทำคีโมอยู่ในภาวะขาดอาหาร อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลเสียต่อการรักษา และการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ตามความต้องการของร่างกายจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากนี้ช่วงการทำคีโมควรงดการกินผักและผลไม้สด เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ทำคีโมควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เป็นต้น และหากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มีไข้สูงและปวดหัวผิดปกติ เลือดออกง่ายหรือมีรอยช้ำที่ไม่ทราบสาเหตุ เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงและหายใจลำบาก ผู้ป่วยควรพบแพทย์หรือนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ข้อมูลจาก : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 

ภาพจาก  : TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง