รีเซต

เมื่อมนุษย์ต้องทำงานสร้างสรรค์สื่อร่วมกับ Ai

เมื่อมนุษย์ต้องทำงานสร้างสรรค์สื่อร่วมกับ Ai
TNN ช่อง16
11 มกราคม 2567 ( 20:11 )
49
1

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงได้จัดงานเสวนาวิชาการเชิงนวัตกรรม (Think Tank) เพื่อยกระดับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปี 2 


ภายใต้แนวคิด Bridging Humanity and AI : จะเป็นอย่างไร เมื่อมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อ ซึ่งมีทั้งการจัดนิทรรศการ เสวนาและบรรยายให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Ai ในการผลิตสื่อ 


 

กองทุนสื่อฯ ยกระดับรู้เท่าทัน Ai เต็มรูปแบบ


ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า Think Tank ปีที่ 2 นี้ จะทำหน้าที่เป็นคลังสมองหรือคลังความคิด โดยกองทุนฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การคิด ออกแบบ ผลิตงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปจนถึงงานเผยแพร่ ให้พลเมืองโลกได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์


ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


ปีที่แล้ว Think Tank ได้ประมวลความก้าวหน้าของการพัฒนาสื่อ เพื่อให้คนในวงการผลิตเกิดความเท่าทันโดยพูดถึงเรื่อง Ai เล็กน้อย แต่ปีนี้ยกระดับเรื่อง Ai เต็มรูปแบบ เพื่อให้พลเมืองมีเครื่องมือหรือทักษะในการเปิดรับสื่อ Ai และสร้างความตื่นตัวเรื่องการใช้ Ai ในการส่งแสริมการผลิต เพื่อให้คนในวงการสื่อปรับตัวเพื่ออยู่รอด อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าวงการมิจฉาชีพเองก็ใช้ Ai มาหลอกลวง และมีเม็ดเงินลงทุนเรื่องนี้มหาศาล ดังนั้นจึงมีคนจำนวนมากที่ไม่เท่าทันและตกเป็นเหยื่อของ Ai ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่พลเมืองต้องมีวิจารณญาณเท่าทันปกป้องตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ นอกจากนี้ในสำนักข่าวก็ยังมีการใช้ Ai เขียนข่าว ซึ่งมีโอกาสคลาดเคลื่อน ดังนั้นผู้รับข่าวจึงต้องแยกแยะข้อเท็จจริงให้ได้ 


 

AI ในวงการสื่อ


และในงานดังกล่าวยังมีเสวนาหัวข้อ “การเข้ามาของ AI ในวงการสื่อแบบ 360 องศา” โดยวิทยากรได้แก่ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ คณะกรรมการและนักวิจัย สมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย (AIAT), นพ ธรรมวานิช กรรมการ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) และภาพเพรง เลี้ยงสุข Program Director บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด 


ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ อธิบายว่า กระบวนการทำงานของ Ai คือ เก็บข้อมูล ประมวลผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำเสนอ ซึ่งเลียนแบบสมองของมนุษย์ เหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากคือปี 1996 ได้เกิดปรากฎการณ์ที่ Ai สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ในการแข่งขันหมากล้อม มาจนถึงยุคปัจจุบันที่มี Chat GPT เขย่าวงการ เหตุที่ Ai ทำงานแทนมนุษย์ได้ก็เพราะมีกลไกในการรับและประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การบรรจุข้อมูลและใส่คำสั่งของมนุษย์ Ai จึงเป็นเพียงเครื่องมือ แต่ไม่มี Human Touch หรือ ความเป็นมิตร อบอุ่น เข้าใจและเอาใจใส่ผู้อื่น ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ที่แข่งขันกับมนุษย์ได้ 


ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ คณะกรรมการและนักวิจัย สมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย (AIAT)


นพ ธรรมวานิช ซึ่งอยู่ในวงการงานออกแบบกราฟิก ที่ถูกคาดหมายว่าเป็นอาชีพอันดับต้นๆ ที่ต้องโดนผลกระทบจาก Ai หลังเข้ามาพลิกโฉมงานออกแบบ โดยเขายอมรับว่าตอนนี้ Ai ได้เข้ามาอยู่ในทุกกระบวนการผลิตแล้ว โดยเฉพาะ Chat GPT ที่ทำหน้าที่เหมือนเลขานุการ และในขั้นตอน pre-production หรือเตรียมการผลิต ก็มีการใช้ Generative AI (ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างงานภาพและเสียงได้) ซึ่งมีเป็นร้อยๆ ตัวเข้ามาทำงานแทน เพราะช่วยลดเวลาการทำงานได้มากจริงๆ เช่น ลดเวลาทำงานจาก 7 วันเหลือเพียงวันเดียว และคนทำงานเองก็สนุกที่ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ตัวเขาเองเคยใช้ Ai เขียนบทภาพยนตร์ พบว่า Ai ช่วยคิดและเพิ่มทางเลือกให้จึงเป็นผู้ช่วยที่ดีที่ และขาเองก็เปลี่ยนบทบาทมาทำหน้าที่เป็นผู้เลือก โดยไม่ต้องเฟ้นความคิดออกมาเองทั้งหมด 


นพ ธรรมวานิช กรรมการ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA)


ภาพเพรง เลี้ยงสุข เพิ่มเติมว่าทุกวันนี้ Ai ทำได้ทั้งภาพ เสียง บทบรรยายต่างๆ รวมถึงการปรับแต่งวิดีโอ ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ซึ่งในอนาคตการพัฒนา Ai จะไม่หยุดยั้ง เพราะในขณะที่เมืองไทยเริ่มมีการใช้ Generative AI กับงาน Production แต่ในสิงคโปร์ก็มีการนำ Generative AI ไปใช้กับงานไฟแนนซ์เชียลแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องเท่าทันก็คือ ข้อมูลต่างๆ ใน Ai ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ต้องมีวิจารณญาณในการตัดสินใจเชื่อด้วย 


ภาพเพรง เลี้ยงสุข Program Director บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด


ดร. ธนกร ศรีสุขใส ซึ่งเล่าย้อนถึงการทำงานร่วมกับ  Kocca จากเกาหลี โดยทางเกาหลีมีเป้าหมายว่าใน 1 ปีนี้จะสร้างบริษัทที่พัฒนา Ai ให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 200 บริษัท และจะไม่ยอมแพ้ประเทศยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม และทุกวันนี้เกาหลีสามารถสร้าง Ai เป็นอินฟูลเอนเซอร์อ่านข่าวได้ เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา มีบุคลิก ไลฟ์สไตล์ รสนิยม ความคิด มีช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง อัพเดทสถานะทุกวัน โดยจับพฤติกรรมคนในยุคนี้ที่เหงาและโดดเดี่ยว จึงหันมาคุยกับ Ai เพราะโลกวัตถุนิยมไปไกลมากจนคนไม่มีที่ยึดเหนี่ยว การพัฒนา Ai จึงตอบสนองความต้องการในสังคม ดังนั้นโจทย์ของกองทุนฯ จึงต้องการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เพื่อใช้ Ai มาช่วยกรองข้อมูลข่าวสาร เพราะเราฝากเรื่องคุณธรรม จริยธรรมไว้กับ Ai ไม่ได้


 

การเข้ามาของ Ai ได้พลิกโฉมวงการผลิตสื่ออย่างไม่เหลือเค้าเดิม ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจเชื่อสิ่งที่เห็นหรือได้ยิน  “ในโลกของ Ai สิ่งที่เห็นอาจไม่มีอยู่จริง” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง