รีเซต

ไทยจำเป็นต้องใช้ Gripen ในภารกิจป้องกันประเทศจากกัมพูชาหรือไม่ ?

ไทยจำเป็นต้องใช้ Gripen ในภารกิจป้องกันประเทศจากกัมพูชาหรือไม่ ?
TNN ช่อง16
25 กรกฎาคม 2568 ( 19:54 )
16

TNN Tech รวบรวมข้อมูลและหลักนิยมทางทหารของกองทัพอากาศไทย หลังจากที่โซเชียลมีเดียตั้งคำถามว่า ทำไม กองทัพของไทยจึงไม่ใช้ Gripen ในปฏิบัติการโต้ตอบป้องกันอย่างได้สัดส่วน (Proportional defense) กับกัมพูชา


รูปแบบภารกิจเครื่องบินรบกับกัมพูชา

กองทัพภาคที่ 2 และหน่วยงานความมั่นคงระบุว่า ภารกิจของเครื่องบินขับไล่ที่เกิดขึ้นถือเป็นการขัดขวางทางอากาศในพื้นที่การรบ (Battlefield Air Interdiction : BAI)

ตามหลักนิยมของกองทัพอากาศไทย พ.ศ. 2566 ระบุว่า “การขัดขวางทางอากาศเป็นการใช้กำลังทางอากาศ ในการโจมตีเพื่อทำลาย ตัดรอน หน่วงเหนี่ยว และลดขีดความสามารถของกำลังภาคพื้นของฝ่ายข้าศึก”

“โดยปกติแล้วการขัดขวางทางอากาศ จะมุ่งเน้นการโจมตีเป้าหมายในการส่งกำลังบำรุง การสนับสนุน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งปวงของฝ่ายข้าศึก ที่อาจนำมาใช้โดยตรงหรือนำมาใช้สำหรับดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมกำลังภาคพื้นภายในยุทธบริเวณ” (ยุทธบริเวณแปลว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ทางทหารสำคัญ เช่น พื้นที่การรบ หรือเป้าหมายการรบ ฯลฯ)

F-16 VS Gripen แบบใดขัดขวางทางอากาศได้ดีกว่า ?

จุดที่ Gripen เหนือกว่า F-16

ในปี 2024 รัฐบาลสวีเดนตัดสินใจที่จะสนับสนุนเครื่องบินขับไล่ Gripen C/D ให้กับยูเครนเพื่อปฏิบัติการทางทหารต่อรัสเซีย ซึ่งในบทวิเคราะห์ของ European Security & Defence สถาบันและนิตยสารด้านความมั่นคงในยุโรป รายงานความเห็นผู้เชี่ยวชาญการบินที่มองว่า Gripen C เหมาะสำหรับภารกิจ BAI มากกว่า F-16 ที่ Block ต่ำกว่า 70 

ทั้งนี้ ประเทศไทยมี F-16 ที่ทันสมัยที่สุดคือ F-16 A/B Block 15 MLU ซึ่งประสิทธิภาพเทียบเท่า F-16 Block 50/52

โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า ระบบอิเล็กทรอนิกส์บน F-16 แบบที่นั่งเดียวในรุ่นที่ต่ำกว่า Block 70 นั้นขาดเทคโนโลยีที่เรียกว่า Autothrottle และ SEP (Specific Excess Power) ซึ่งทำให้เพิ่มภาระนักบินที่ต้องรักษาสมดุลการบินไปพร้อมกับการปล่อยอาวุธโจมตีภาคพื้นดิน ในขณะที่ Gripen C มีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยบินมากับตัวเครื่องตั้งแต่แรก จึงลดภาระนักบินระหว่างทำภารกิจสนับสนุนภาคพื้นดินแบบ BAI ได้ 

จุดที่ F-16 เหนือกว่า Gripen

อย่างไรก็ตาม ลักษณะภารกิจของยูเครนนั้นจำเป็นต้องใช้นักบินเพียงคนเดียวต่อลำ เพื่อเพิ่มจำนวนเครื่องบินขับไล่ในภารกิจ และลดการใช้นักบินที่มีอยู่อย่างจำกัด ต่างจากกรณีของไทยที่ใช้ F-16 B ซึ่งเป็นรุ่นนักบิน 2 คน ที่ตำแหน่งนักบินผู้ช่วยจะทำหน้าที่การสั่งการและใช้อาวุธโจมตีภาคพื้นดินได้โดยไม่เป็นภาระนักบินตำแหน่งที่ 1 อยู่แล้ว

นอกจากนี้ Gripen C/D ยังรองรับอาวุธต่าง ๆ ได้ไม่เกิน 5,300 กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่า F-16 Block ที่รองรับได้มากถึง 7,700 กิโลกรัม จุดติดตั้งอาวุธ (Hardpoint) ของ Gripen C/D มีทั้งหมด 8 จุด F-16 มีด้วยกัน 9 จุด และเนื่องจากทั้งสองรุ่นต่างเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ใช้ในกลุ่มสมาชิก NATO จรวด ปืนกลอากาศ และระเบิดต่าง ๆ จึงสามารถใช้งานด้วยกันได้ทั้งหมด 


Gripen กับ F-16 ในบริบทไทย - กัมพูชา

แม้ว่าจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่การเลือกใช้ Gripen หรือ F-16 จึงขึ้นอยู่กับตัวเลือกเครื่องบิน ประเภทภารกิจ รวมถึงปริมาณและน้ำหนักของอาวุธที่เลือกใช้ ซึ่งการเลือกใช้เครื่องบินรบในภารกิจ BAI ของกองทัพอากาศไทยนั้นเป็นไปตามหลักนิยมและความเหมาะสมของภารกิจที่ได้รับการสั่งการมาแล้ว 

ซึ่งหากในอนาคตมีการใช้ Gripen C/D ในภารกิจ BAI ต่อกัมพูชา ก็อาจหมายความว่ากองทัพอากาศและกองทัพบกของไทยพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมเช่นกัน

ที่ตั้ง Gripen และ F-16 ในประเทศไทย

ปัจจุบันกองทัพอากาศแบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็นกองบินต่าง ๆ ซึ่ง F-16 รุ่นที่ทันสมัยที่สุดของประเทศอย่าง F-16 A/B Block 15 eMLU จะอยู่ที่กองบิน 4 ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ส่วน F-16A/B Block 15 ADF และ F-16A/B Block 15 OCU ซึ่งเก่ากว่าจะประจำการอยู่ที่กองบิน 1 นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

ด้าน Gripen C/D ในปัจจุบันประจำการอยู่ที่กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 11 ลำ พร้อมด้วยเครื่องบินตรวจการณ์ส่วนหน้าแบบ Saab 340 AEW อีก 2 ลำ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง