นายกฯกล่าวถ้อยแถลง "ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน" ย้ำร่วมมือปึกแผ่น-รับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันนี้ (วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2568) เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งตรงกับเวลา 08.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย
การประชุมอาเซียนครั้งนี้ มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ภายใต้แนวคิดหลัก “การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และความยั่งยืน” (Inclusivity and Sustainability) ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ชาติ ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา รวมถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมี ดร. เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน และนายกรัฐมนตรีติมอร์-เลสเต เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์
ก่อนการประชุม ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เชิญผู้นำอาเซียน ถ่ายภาพร่วมกันก่อนกล่าวเปิดการประชุม จากนั้นที่ประชุมฯ ได้หารือ ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ทิศทางการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนของโลก รวมถึงแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ของอาเซียนกับภาคีภายนอก
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีของไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงความสำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ภูมิทัศน์โลกกำลังเปลี่ยนไปสู่นโยบายที่แข็งกร้าวและมุ่งผลประโยชน์ตอบแทน ถอยห่างจากแนวทางความร่วมมือพหุภาคีไปสู่การปฏิบัติฝ่ายเดียว มาตรการด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อพลวัตทางการค้าโลก และต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวม พัฒนาการดังกล่าวได้ท้าทายบรรทัดฐานโลก ทำให้อาเซียนต้องประเมินยุทธศาสตร์ของอาเซียนอีกครั้ง เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีได้ถือโอกาสนี้ ขอบคุณต่อความพยายามของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการส่งเสริมจุดยืนอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน
ทั้งนี้เพื่อรับมือกับภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน อาเซียนจำเป็นต้องสร้าง เครือข่ายห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจร และทำงานร่วมกันมุ่งไปสู่การบูรณาการระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนยังคงมีบทบาทความสำคัญ ที่น่าดึงดูด และแข่งขันได้ จึงต้องมีการสนับสนุนการค้าภายในอาเซียน ใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ให้เต็มที่ พิจารณาจัดทำ FTA กับภาคีใหม่ ๆ ควบคู่กับส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบ MSMEs เพื่อให้สามารถต่อสู้กับความท้าทายในอนาคตได้
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ประเทศไทยสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีที่โปร่งใส เสรี ยุติธรรม และมีกฎเกณฑ์ที่คาดเดาได้ โดยประเทศไทยจะเร่งรัดการจัดทำ Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 เพื่อปลดล็อคการเติบโตครั้งใหม่ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในอนาคต และแสดงให้เห็นว่า อาเซียนไม่หยุดนิ่งในการแสวงหาความก้าวหน้า ควบคู่กับการตอบสนองต่อภูมิทัศน์ของการค้าและการลงทุนระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุการบูรณาการที่มีประสิทธิผล อาเซียนต้องส่งเสริมกลไกการเจรจาจากทั้งภายในและภายนอกที่ตรงไปตรงมา ครอบคลุม สร้างสรรค์ และมุ่งเน้นที่การแก้ปัญหา ผ่านการเสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่มีพื้นฐานที่มั่นคง ยึดมั่นตามหลักการของอาเซียน การให้ความสำคัญในเรื่องเดียวกัน และขับเคลื่อนในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของพลเมืองอาเซียนอย่างแท้จริง ซึ่งไทยจะยังคงส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างแข็งขัน โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับครอบครัวและหุ้นส่วนอาเซียน เพื่อให้แน่ใจว่าอาเซียนจะบรรลุถึง “การมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมและยั่งยืน” ที่สะท้อนอยู่ในหัวข้อของอาเซียนในปีนี้
ดังนั้น เพื่อสร้างอนาคตที่ครอบคลุมสำหรับภูมิภาคอาเซียน ประชาคมอาเซียนจะต้องเน้นที่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และต้องเพิ่มความพยายามเพื่อปกป้องความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การหลอกลวงทางออนไลน์ หมอกควันข้ามพรมแดน และภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจว่า การคุ้มครองประชาชน ไม่อาจล้าช้าได้
ขณะเดียวกัน อาเซียนควรริเริ่มส่งเสริมเครื่องยนต์ตัวสำคัญที่จะ สนับสนุนการเติบโตของอาเซียนร่วมกัน เช่น ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆ ของสังคมอาเซียน และความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน ปรับปรุงแนวทางปฎิบัติในการเดินทางระหว่างกัน และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายร่วมกัน ตามข้อริเริ่มของไทยเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน
นอกจากนี้ อาเซียนควรมุ่งเน้นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนในทุกภาคส่วน และในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน พร้อมกันสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมความยั่งยืนสำหรับอนาคต และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อผลักดันอาเซียนสีเขียว ให้มีความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต ประเทศไทยจะแสดงบทบาทนำขับเคลื่อนอาเซียนสู่เป้าหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในความปรารถนาอาเซียน ที่ระบุไว้ใน “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2045” (ASEAN Community Vision 2045) โดยเน้นเรื่องการเงินสีเขียว การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมนำ “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2045” มาขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่อนาคตร่วมกัน และเชื่อว่า วิสัยทัศน์ใหม่นี้ จะทำให้อาเซียนเติบโต ที่นำไปสู่สันติสุข ความเป็นหุ้นส่วน และก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ภายหลังการประชุมผู้นำอาเซียน ยังได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ 9 ฉบับ ได้แก่
1. ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (KL Declaration on the 10th Anniversary of the Establishment of the ASEAN Community)
2. ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา (KL Declaration on ASEAN 2045: Our Shared Future)
3. วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 “อาเซียนที่เข้มแข็ง มีนวัตกรรม มีพลวัติและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” (ASEAN Community Vision 2045: “Resilient, Innovative, Dynamic and People-Centred ASEAN”)
4. แผนยุทธศาสตร์ประชาคม การเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Strategic Plan)
5. แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Strategic Plan)
6. แผนยุทธศาสตร์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Strategic Plan)
7. แผนยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity Strategic Plan)
8. กรอบความยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาเซียน (ASEAN Creative Economy Sustainability Framework)
9. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมุ่งมั่นเพื่อความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านยา (ASEAN Declaration of Commitment on ASEAN Drug Security and Self-Reliance: ADSSR)