เรือเหาะไฮโดรเจนขนส่งสินค้าทางอากาศรูปแบบใหม่พลังงานไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
บริษัทสตาร์ตอัป H2 Clipper ในประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดตัวแนวคิดใหม่เรือเหาะไฮโดรเจนเพื่อการขนส่งสินค้าทางอากาศมีขีดความสามารถในการบรรทุกสินค้าได้มากกว่าเครื่องบินขนส่งปกติทั่วไปถึง 8-10 เท่า ขนส่งสินค้าระยะทางไกล 9,600 กิโลเมตร ประหยัดต้นทุนในการขนส่งสินค้าลงได้ 4 เท่า นำเทคโนโลยีเรือเหาะที่เคยได้รับความนิยมในอดีตมาปรับปรุงประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
เทคโนโลยีเรือเหาะไฮโดรเจนขนาดใหญ่ที่บริษัทนำเสนอสามารถบรรทุกสินค้าน้ำหนักมากกว่า 150 ตัน ภายในห้องเก็บสินค้าเนื้อที่มากกว่า 7,530 ลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามเรือเหอะมีข้อจำกัดในด้านความเร็วโดยสามารถบินด้วยความเร็วเพียง 282 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่น้อยกว่าเครื่องบินขนส่งสินค้าหลายเท่าแต่ยังเป็นความเร็วที่มากกว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุกหรือเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 7-10 เท่า ตัวอย่างเช่น เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เดินทางจากสหรัฐอเมริกาใช้เวลา 36 ชั่วโมง หากเปลี่ยนเป็นเรือเหาะไฮโดรเจนอาจใช้เวลาเพียง 3.6 ชั่วโมงเท่านั้น
จุดเด่นของเรือเหาะไฮโดรเจน คือ การใช้พลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีพิสัยการบิน 800-9,600 กิโลเมตรต่อการเปลี่ยนเซลล์เชื้อเพลิง 1 ครั้ง นอกจากนี้บริเวณด้านบนของเรือเหอะยังได้รับการออกแบบให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มให้ความสนใจการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เรือเหาะไฮโดรเจนเป็นอีกรูปหนึ่งของการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีใหม่ที่บริษัทนำเสนอนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยพัฒนาเพิ่มเติม บริษัทมีแผนการทดสอบนำเรือเหาะไฮโดรเจนบินขึ้นสู่อากาศครั้งแรกในช่วงปี 2024 และมีแผนการสร้างเพิ่มกว่า 100 ลำ ภายในช่วงปี 2030 เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าในประเทศสหรัฐอเมริการวมไปถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งสินค้าข้ามทวีป
ภาพประกอบ : เรือเหาะไฮโดรเจน
ที่มาของภาพ : h2clipper.com
ข้อมูลจาก newatlas.com
ภาพจาก h2clipper.com