รีเซต

นักวิจัยเชื่อไฮโดรเจนแค่ 2% ใต้พื้นโลกเป็นแหล่งพลังงานให้มนุษย์ไปได้ 200 ปี

นักวิจัยเชื่อไฮโดรเจนแค่ 2% ใต้พื้นโลกเป็นแหล่งพลังงานให้มนุษย์ไปได้ 200 ปี
TNN ช่อง16
30 ธันวาคม 2567 ( 07:51 )
14

พลังงานไฮโดรเจนยังคงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ล่าสุดทีมนักธรณีเคมีปิโตรเลียมจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานการวิจัยที่ระบุว่าโลกอาจมีไฮโดรเจนอยู่ชั้นหิน และแหล่งกักเก็บใต้พื้นดินปริมาณกว่า 6.2 ล้านล้านตัน หรือประมาณ 5.6 ล้านล้านเมตริกตัน หรือมากกว่าปริมาณน้ำมันสำรองที่เหลืออยู่ใต้พื้นที่ 26 เท่า อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุแหล่งที่อยู่ของไฮโดรเจนดังกล่าวได้ชัดเจน


เจฟฟรีย์ เอลลิส (Geoffrey Ellis) นักธรณีเคมีปิโตรเลียมจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) และหัวหน้าคณะผู้จัดทำผลการศึกษาใหม่นี้ เปิดเผยข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ Live Science สื่อออนไลน์ด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีรายละเอียดบางส่วนระบุว่า ไฮโดรเจนส่วนใหญ่น่าจะอยู่ลึกหรือไกลจากแนวชายฝั่งจนไม่สามารถเข้าถึงได้ และแหล่งสำรองบางส่วนอาจมีขนาดเล็กกระจายตัวเกินกว่าที่จะสกัดด้วยวิธีการที่คุ้มทุน 


นักวิจัยคาดว่าปริมาณไฮโดรเจนเพียง 2% จากปริมาณทั้งหมดที่ค้นพบ หรือเทียบเท่ากับปริมาณ 124,000 ล้านตัน เพียงพอที่จะใช้เป็นพลังงานสะอาดไปอีกอย่างน้อย 200 ปี

 

ก่อนหน้านี้กระบวนการสร้างไฮโดรเจนเกิดขึ้นได้หลายวิธี เช่น กระบวนการอิเล็กโทรไลซิสของน้ำ (Water Electrolysis) โดยโมเลกุลของน้ำจะถูกสลายด้วยกระแสไฟฟ้า เมื่อใช้พลังงานหมุนเวียน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเรียกว่า "ไฮโดรเจนสีเขียว" แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบไฮโดรเจนจำนวนมหาศาลในบริเวณตะวันตกของทวีปแอฟริกา และอีกแห่งในเหมืองโครเมียม ประเทศแอลเบเนีย แนวคิดดังกล่าวก็เปลี่ยนไป นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจมีไฮโดรเจนสะสมอยู่ในแหล่งกักเก็บใต้พื้นดินจำนวนมากเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งการสกัดไฮโดรเจนจากธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้แหล่งพลังงานอื่นในการผลิตนับเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าการผลิตไฮโดรเจนรูปแบบอื่น ๆ


ปัจจุบันพลังงานไฮโดรเจนนับเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ รวมไปถึงขับเคลื่อนกระบวนการอุตสาหกรรม และผลิตไฟฟ้า โดยคาดว่าการใช้พลังงานไฮโดรเจนจะคิดเป็นสัดส่วน 30% ของความต้องการพลังงานทั้งหมดในอนาคต และจะเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า ภายในปี 2050 


ที่มา: Space.com




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง