รีเซต

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบ "มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า"

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบ "มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า"
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2567 ( 02:18 )
34

นักวิทยาศาสตร์องค์การนาซา (NASA) ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจักรวาล ชื่อ HD 189733 b โดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope หรือ JWST) โดยคาดว่าชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า และมีฝนอนุภาคคล้ายแก้วลักษณะแข็งตกลงบนพื้นผิวดาว กระแสลมพัดแรงถึง 5,000 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 8,046 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามรายงานที่ปรากฏในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา


สำหรับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจักรวาล HD 189733 b ถูกค้นพบในปี 2005 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 64 ปีแสง และอยู่ในกลุ่มดาว Vulpecula เป็นดาวสีน้ำเงินโคบอลต์ ดาวเคราะห์ดวงนี้ใช้เวลาในการโคจรรอบดาวฤกษ์ 2.2 วัน เนื่องจากวิถีการโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก ๆ ทำให้ชั้นบรรยากาศบนดาวดวงนี้มีอุณหภูมิสูงถึง 1,700 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 926.6 องศาเซลเซียส


ส่วนสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ชั้นบรรยากาศมีกลิ่นเหมือนไข่เน่า เนื่องจากค้นพบว่าในชั้นบรรยากาศประกอบด้วยก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulfide, H2S) หรือก๊าซไข่เน่า ซึ่งก๊าซชนิดนี้มักเกิดขึ้นจากกิจกรรมบางอย่างของสิ่งมีชีวิต


อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ยืนยันว่าบนดาวเคราะห์ดวงนี้มีสิ่งมีชีวิตหรือไม่ เนื่องจากขนาดที่ใหญ่ของดาวเคราะห์และอุณหภูมิที่สูงเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิต รวมไปถึง ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ ก๊าซไข่เน่า อาจเกิดจากกิจกรรมทางธรณีวิทยาอื่น ๆ ในบนพื้นผิวดาวเคราะห์นอกระบบ HD 189733 b 


กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ สามารถตรวจจับก๊าซและโมเลกุลต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบด้วยการใช้สเปกโตรสโคปี (Spectroscopy) วิธีนี้จะวัดแสงที่ดาวเคราะห์สะท้อนหรือแผ่ออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ ซึ่งจะมีการดูดกลืน (Absorption) หรือการแผ่ (Emission) ที่เกิดจากก๊าซและโมเลกุลในชั้นบรรยากาศ โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ สามารถแยกแยะแสงที่ถูกดูดกลืนไปในช่วงความยาวคลื่นต่าง ๆ และสร้างสเปกตรัม (Spectrum) ของชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ออกมา นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้ว่ามีก๊าซหรือโมเลกุลชนิดใดบ้างอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ รวมถึงก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ได้จากสเปกตรัมนี้ 


ดาวเคราะห์นอกระบบ HD 189733 b ถูกตั้งฉายาว่า "นักฆ่าที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน" โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของนาซาที่ระบุเอาไว้ในปี 2016 ว่า “ในสายตาของมนุษย์ ดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลดวงนี้ดูเป็นสีฟ้าสดใส ซึ่งอาจทำให้นักเดินทางในอวกาศเข้าใจผิดคิดว่ามันมีชั้นบรรยากาศคล้ายกับโลก แต่ความจริงแล้วแตกต่างกันแบบสุดขั้ว และมันอาจเป็นโลกแห่งฝันร้ายได้" กวั่งเหว่ย ฝู (Guangwei Fu) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา กล่าวเพิ่มเติมในรายงานดังกล่าว


ที่มาของข้อมูล Newsnationnow, Nature, MSN, NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง