รีเซต

สถานการณ์เมียนมาล่าสุด กต.เผย 48 ชม.ไม่มีเสียงปะทะ ย้ำยึดหลักมนุษยธรรม

สถานการณ์เมียนมาล่าสุด กต.เผย 48 ชม.ไม่มีเสียงปะทะ ย้ำยึดหลักมนุษยธรรม
TNN ช่อง16
25 เมษายน 2567 ( 11:50 )
32

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ว่าคณะกรรมการได้ติดตามสถานการณ์ความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจ ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ว่ามีความไม่แน่นอนสูง มีความผันผวน มีการขยายพื้นที่การสู้รบระหว่างฝ่ายต่อต้านและกองทัพเมียนมา ชายแดนไทยและเมืองเมียวดีเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายต่อต้านและกองทัพเมียนมาต้องการยึด


สถานการณ์ 48 ชั่วโมง ก่อนหน้านี้ ไม่ได้ยินเสียงปะทะ ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับหน่วยข่าวได้ประเมินสถานการณ์ไว้หลายสถานการณ์ รวมถึงสถานการณ์ที่จะมีผู้หนีภัยความไม่สงบเข้ามาฝั่งไทยมากขึ้น พร้อมย้ำท่าทีประเทศไทยว่า ยึดมั่นรักษาอธิปไตยของไทย รวมถึงการดูแลความปลอดภัยความมั่นคงของประชาชน  และ ไทยจะไม่ยอมให้ใช้ดินแดนในการดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศไม่ว่าจะจากฝ่ายใด  รวมทั้งจะยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ


นอกจากนี้คณะกรรมการได้มอบหมายงานให้กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบการสื่อสารต่อสาธารณชนไทย และต่างประเทศ ส่วนศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข่าวในพื้นที่ พร้อมให้ที่ประชุมประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ โดยให้ สมช.เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงและการข่าว ส่วนกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานด้านการทูต โดยตอนนี้ไทยได้ประสานให้มีการประชุมอาเซียนทรอยก้า และกรอบอาเซียนทรอยก้าพลัส ผ่าน สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน


นายนิกรเดช ย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่การกระทบกระทั่งระหว่างไทย-เมียนมา และไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในของเมียนมา ไทยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่า จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาสู่ประเทศไทย ทั้งกลุ่มพลเรือน ทหารที่ขอหนีภัย ซึ่งมีหลักสากลในการให้ความช่วยเหลือ ทั้งการปลดอาวุธ และการเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นเครื่องแบบพลเรือน ส่งกลับประเทศเมื่อสถานการณ์สงบผ่านหลักการไม่ส่งผู้หนีภัยกลับไปสู่อันตราย ทั้งนี้ การดำเนินการจะตั้งอยู่บนพื้นฐานสมดุล ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน


ส่วนผลกระทบต่อไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง มีผลกระทบทางการค้าชายแดน ซึ่งเป็นผลกระทบชั่วคราว คณะกรรมการจึงพิจารณาแนวปฏิบัติการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ซึ่งจะมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ โดยมีการเตรียมการ 4 ส่วน ประกอบด้วย ภาวะปกติ  การดำเนินการกรณีที่ผู้หนีภัยเข้ามายังประเทศไทยแล้ว การขอรับการสนับสนุนในภาพรวมจากองค์การระหว่างประเทศ  และการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบ


ภาพจาก: AFP 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง