พบโพรงใต้ทะเลลึก มีสิ่งมีชีวิตเติบโตอยู่ด้านใน
นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ค้นพบโพรงซ่อนอยู่ใต้พื้นทะเลลึกในโอเอซิสที่พัฒนาขึ้นจากความร้อนใต้พิภพ ที่สำคัญคือโพรงนี้มีสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์อาศัยอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก
โพรงดังกล่าวนี้อยู่ในบริเวณเนินเขามหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก หรือ East Pacific Rise ที่ระดับความลึก 2,515 เมตรใต้ผิวมหาสมุทร พื้นที่นี้นับว่ายากต่อการมีชีวิตอยู่ เนื่องจากความกดดันสูง อุณหภูมิต่ำ และขาดแสงแดด แต่พื้นที่ใต้ท้องทะเลแห่งนี้มีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น ทำให้มีบางจุดที่มีความร้อน ก๊าซ และแร่ธาตุจากภายในโลกซึมเล็ดลอดออกมา เรียกว่า ปล่องน้ำพุร้อนใต้สมุทร หรือ Hydrothermal Vent ทำให้เกิดพื้นฐานทางเคมีสังเคราะห์ที่ทำให้เกิดห่วงโซ่อาหารในทะเลได้
ในอดีต มนุษย์ลงไปศึกษาธรรมชาติที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายกันนี้ได้ยาก ทำให้ยังขาดความเข้าใจธรรมชาติของสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้ง แต่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล ช่วยให้มนุษย์ส่งอุปกรณ์ลงไปศึกษาได้มากกว่าเดิม
โมนิกา ไบรท์ (Monika Bright) นักชีววิทยาทางทะเลและทีมวิจัยได้ส่งยานควบคุมระยะไกลที่ชื่อว่า ซับ-แอสเทียน (SuB-astian) ลงไปยังบริเวณปล่องน้ำพุร้อนใต้สมุทรของบริเวณเนินเขามหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก เพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิต สำรวจ เก็บตัวอย่าง พบว่าโพรงเหล่านี้มีความลึกของโพรงประมาณ 10 เซนติเมตร และเนื่องจากได้รับผลมาจากภูเขาไฟ ทำให้มีอุณหภูมิไม่หนาวเย็นมาก คือ ประมาณ 25 องศาเซลเซียส มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตอย่างน้อย 10 ชนิด อยู่ภายในโพรงเหล่านี้ เช่น ไส้เดือนทะเล (Polychaete Worms) หอยทากทะเล (Sea Snails) และหนอนท่อยักษ์ (Riftia Pachyptila)
การพบหนอนท่อยักษ์ยืนยันสมมุติฐานที่ว่า หนอนสามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งบนพื้นทะเลและในโพรง นอกจากนี้สิ่งมีชีวิตบางสปีชีส์ ยังพบทั้งบนผิวพื้นทะเลและในรอยแยกจากลาวา ซึ่งบ่งชี้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างพื้นทะเลและโพรงด้านล่าง
นักวิจัยยังพบอีกว่าในโพรงที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นทะเล สภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความดัน และองค์ประกอบทางเคมี ค่อนข้างคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมที่พบรอบ ๆ ปล่องน้ำพุร้อน มันจึงบ่งชี้ว่าสิ่งมีชีวิตในโพรงเหล่านี้ อาจขยายออกไปได้ไกลพอสมควร กลายเป็นชุมชนสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงถึงกัน
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโพรงเหล่านี้พบได้มากน้อยหรือกว้างแค่ไหน แต่ในอนาคตจะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจสภาพแวดล้อมใต้ทะเลลึก และเพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันไม่ให้สภาพแวดล้อมเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การทำเหมืองใต้น้ำลึก เป็นต้น
ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน Nature Communications ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2024 ถือเป็นอีกหนึ่งการค้นพบที่ชี้ให้เห็นว่าระบบนิเวศวิทยาความร้อนใต้พิภพนั้นซับซ้อนกว่าที่เราเคยรู้จักมาก
ที่มาข้อมูล ScienceAlert, Nature
ที่มารูปภาพ Nature