รีเซต

เปิดสูตรคำนวณ “วัคซีนไฟเซอร์” ที่ไทยได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ พร้อมเงื่อนไขใหม่กระจายวัคซีน

เปิดสูตรคำนวณ “วัคซีนไฟเซอร์” ที่ไทยได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ พร้อมเงื่อนไขใหม่กระจายวัคซีน
Ingonn
5 สิงหาคม 2564 ( 15:55 )
127

 

วัคซีนไฟเซอร์สำหรับคนไทย เป็นเรื่องที่ต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนและตัวเลขที่ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐ มีการเปลี่ยนแปลง จนเกิดเป็นคำถามว่าไทยตกลงได้วัคซีนมาเท่าไหร่ โดยก่อนหน้าที่ระบุว่า 1.54 ล้านโดสเป็นตัวเลขที่เคยหารือ แต่รัฐบาลไทยรับจริง 1,503,450 โดส และทาง สธ.ยืนยันกลับไปที่สถานทูตก็ตรงกัน พร้อมแจ้งว่าขั้นตอนการเจรจา กับการรับจริงตัวเลขอาจต่างกันบ้าง แต่ยืนยันว่าตัวเลขรับจริงถูกต้อง

 

 

ส่วนการจัดสรรไฟเซอร์ระบุว่า กระตุ้นเข็มสามบุคลากรทางการแพทย์ กระจายกลุ่มเสี่ยงสูง คือ สูงอายุ 60 ปี โรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และชาวต่างชาติในไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน รวมถึงคนที่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศย้ำว่าก่อนรับไฟเซอร์ เราฉีดต่างชาติไปแล้วตั้งแต่ พ.ค. รวมเกือบ 2 แสนราย

 

 


วันนี้ TrueID จะมาสรุปย่อความอลเวงของวัคซีนไฟเซอร์ที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ตัวเลขในการจัดสรรวัคซีนค่อนข้างนิ่งแล้ว พร้อมเปิดสูตรคำนวณวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐ เพื่อเป็นการรีเช็กว่าไทยได้รับวัคซีนมาตรงตามที่ สธ. ระบุหรือไม่

 

 

 

วัคซีนไฟเซอร์ที่มาถึงประเทศไทย มีจำนวนที่ชัดเจนและถูกต้อง คือ 1,503,450 โดส เนื่องจาก วัคซีนที่ส่งมาในภาวะแช่แข็งอยู่ในอุณหภูมิติดลบ 70 องศา ต้องขนส่งในถาดขนวัคซีน ซึ่งปกติจะขนส่งลงล็อกประมาณ 1,170 โดสต่อถาด รวมแล้วคือจำนวน 1,503,450 โดสพอดี สอดคล้องตัวเลขที่อยู่บนเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐ 

 

 

วิธีเช็กว่าได้รับวัคซีน 1,503,450 โดส จริงไหม


สถานทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เปิดเผยรายละเอียดวัคซีนไฟเซอร์ ที่บริจาคให้ไทย จำนวน 1,503,450 โดสแบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้


1. คลายสงสัยตัวเลข 1,503,450 มาจากไหน


2. สหรัฐฯ ส่งวัคซีนล็อตแรก เท่ากับ 257 กล่อง


3. 1 กล่อง เท่ากับ 5 ถาด


4. 1 ถาด เท่ากับ 195 ขวด


5. 1 ขวด เท่ากับ 6 โดส


6. 257 กล่อง X 5 ถาด X 195 ขวด X 6 โดส


7. เท่ากับ 1,503,450

 

 

 

วัคซีนไฟเซอร์จัดสรรให้ใครบ้าง


1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่สัมผัสผู้ป่วยทั่วประเทศ จำนวน 700,000 โดส


ประกอบด้วย


- ผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม ให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็ม


- ผู้ที่ได้รับวัคซีนใดๆมาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2


- ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด และไม่เคยได้รับวัคซีน ให้สามารถรับไฟเซอร์ 1 เข็ม มีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน

 

 

ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์ในบุคลากรที่รับวัคซีนซิโนแวค เข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 หรือแอสตร้าฯ 2 เข็ม หรือ ซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นแอสตร้าฯไป 1 เข็มแล้ว เพราะบุคลากรดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง แต่ให้ลงรายชื่อไว้ จะมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการและดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ตามข้อมูลวิชาการและจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มต่อไป

 

 

 

2.ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด19 ที่มีสัญชาติไทย ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข็มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จำนวน 645,000 โดส

 

 

สำหรับผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน โรคอ้วนที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ส่วนกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังในเด็กตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ เช่น เด็กอายุ 12-13 ปีที่มีน้ำหนัก 80 กก. ในเด็กอายุ 13-15 ปีที่มีน้ำหนัก 90 กก. หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เป็นต้น

 

 

3.ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผุ้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และชาวไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศที่มีหลักฐานแสดงความจำเป็นว่าต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ ก่อนถึงประเทศปลายทาง เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูตร เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส

 

 

4.การทำวิจัยศึกษากรณีฉีดสลับ เพื่อตรวจสอบภูมิคุ้มกัน การลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งต้องเป็นโครงการวิจัยที่ต้องผ่านคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม จำนวน 5,000 โดส

 

 

5.สำหรับพื้นที่ระบาดใหม่ เช่น อาจมีพื้นที่พบสายพันธุ์เบตา เป็นต้น เพราะไฟเซอร์ใช้ต่อสายพันธุ์นี้ค่อนข้างดี จำนวน 3,450 โดส

 

 


แผนการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ต้นเดือน ส.ค. 2564


นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) ระบุว่า การจัดส่งวัคซีนแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ยังไม่ใช่ทั้งหมด เป็นเพียงรอบส่งวันที่ 4-6 ส.ค.นี้ โดย 76 จังหวัดรวม 322,800 โดส กทม.อีก 1.2 แสนโดสในรพ. 162 แห่ง ประกอบกับตัวเลขดังกล่าวมาจากจังหวัดสำรวจ และส่งข้อมูลมาที่ส่วนกลาง ขณะที่บุคลากรแต่ละพื้นที่มีจำนวนไม่เท่ากัน บางจังหวัดมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ โดสด้วยแอสตร้าฯ

 

 

 

 

 


ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข , hfocus

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง