รีเซต

ผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์-โมเดอร์นา ที่ต้องรู้ก่อนฉีด

ผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์-โมเดอร์นา ที่ต้องรู้ก่อนฉีด
Ingonn
5 ตุลาคม 2564 ( 09:58 )
3.2K
1

 

วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่กำลังเข้ามาให้ประชาชนได้ฉีดในไทย ซึ่งมีด้วยกัน 2 ยี่ห้อ นั่นก็คือ วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา โดยคาดว่าคนไทยส่วนใหญ่จะได้เริ่มฉีดจริงช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป (ไตรมาสที่ 4) ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้า อาจจะได้รับเป็นวัคซีนบูสเตอร์โดส หรือวัคซีนเข็มที่ 3 ก่อน เนื่องจากอยู่ในความเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด

 


วันนี้ TrueID ได้รวบรวมผลข้างเคียงเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นามาฝากทุกคน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนจริง

 

 


วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีน mRNA

 

หลักการทำงานของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA คือการเอาชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด- 19 (mRNA) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัส (Spike protein) นำมาสังเคราะห์เป็นรหัสคำสั่งที่เรียกว่า S-spike mRNA

 

 

เมื่อฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของไวรัสขึ้น และโปรตีนที่ผลิตในส่วนนี้เองจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen) ให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody)เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

 

 

 

ปัจจุบันทั่วโลกฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA มากกว่า 500,000,000 โดส จากการศึกษาพบว่ามีโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่ำประมาณ 3-5 : 1,000,000 โดส ซึ่งใกล้เคียงกับวัคซีนอื่น ๆ ที่กำลังฉีดทั่วโลก โดยภาพรวมถือว่าวัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง และเป็นวัคซีนที่ได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 สูงถึงร้อยละ 95

 

 

 


วัคซีนไฟเซอร์


วัคซีนไฟเซอร์ ผลิตโดยบริษัท BioNTech/Pfizer มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่มีอาการโดยรวม 95% ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็ม 2 ที่  3 สัปดาห์ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -60 ถึง -80 องศาเซลเซียส

 

 

ผลข้างเคียงไฟเซอร์ที่พบได้


มีอาการปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีด อาการเหนื่อย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น  เป็นไข้ ปวดข้อ คลื่นไส้ และสามารถหายได้เอง ภายใน 2 – 3 วัน

 

 

 

วัคซีนโมเดอร์นา 


วัคซีนโมเดอร์นา ผลิตโดยบริษัท Moderna มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการโดยรวม 94.1% ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงโดยรวม 100% แนะนำให้ฉีดอายุ 18 ปีขึ้นไป เว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส (เก็บได้นาน 30 วัน)

 

 

ผลข้างเคียงโมเดอร์นาที่พบได้


มีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง บางรายมีอาการเหนื่อย ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น มีไข้ วิงเวียน คลื่นไส้ และสามารถหายได้เอง ภายใน 2 – 3 วัน

 

 


นอกจากนั้นแล้วยังมีรายงานกรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA พบว่า เข็มที่ 2 มีแนวโน้มอาการข้างเคียงรุนแรงมากกว่าเข็มแรก ซึ่งอาจจะแตกต่างจากวัคซีนประเภท viral vector (แอสตร้าเซนเนก้า) ที่เข็ม 2 มักจะมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าเข็มแรก

 

 


คำเตือน เสี่ยงเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ


สำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) สั่งเพิ่มคำเตือนลงในเอกสารแสดงข้อเท็จจริงของวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา เกี่ยวกับรายงานการเกิดผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน 2 ตัวนี้ ที่ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 และเริ่มมีอาการภายใน 2-3 วันหลังได้รับวัคซีน

 

 

พบว่ามีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรืออาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มากกว่า 1,200 คน หลังจากฉีดวัคซีนประเภท mRNA ทั้ง 2 ตัวนี้ไปประมาณ 300 ล้านโดส เป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี และเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ 295 รายที่รักษาหายกลับบ้านแล้ว

 

 

 

คณะอนุกรรมการด้านโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับโลกด้านความปลอดภัยของวัคซีนประจำองค์การอนามัยโลก (WHO Global Advisory Committee on Vaccine Safety - GACVS) ระบุว่า ประโยชน์ของวัคซีนโควิดชนิด mRNA มีมากกว่าความเสี่ยง โดยจะช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้

 

 

 

ข้อมูลจาก TNN , workpointtoday , กรุงเทพธุรกิจ , โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง