รีเซต

เครื่องบินเจ็ทหรูบินด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ 100% ข้ามแอตแลนติกครั้งแรกของโลก

เครื่องบินเจ็ทหรูบินด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ 100% ข้ามแอตแลนติกครั้งแรกของโลก
TNN ช่อง16
24 พฤศจิกายน 2566 ( 01:41 )
73
เครื่องบินเจ็ทหรูบินด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ 100% ข้ามแอตแลนติกครั้งแรกของโลก

กัลฟ์สตรีม (Gulfstream) ผู้ผลิตเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว (Private Jet) ชื่อดัง ประสบความสำเร็จในการทดสอบบิน Gulfstream G600 ด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากรัฐจอร์เจียในสหรัฐอเมริกา มาลงจอดในเมืองฟาร์นบอร์เรอห์ (Farnborough) เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอนในอังกฤษได้เป็นครั้งแรกของโลก


เที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพครั้งแรกของโลก

กัลฟ์สตรีม รายงานว่า Gulfstream G600 ใช้เวลาทำการบินทั้งหมด 6 ชั่วโมง กับ 56 นาที ในการบินจากสำนักงานใหญ่ของกัลฟ์สตรีม ในเมืองซาวานนาห์ (Savannah) รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือไปยังสนามบินในเมืองฟาร์นบอร์เรอห์ ของอังกฤษ ด้วยเครื่องยนต์ไอพ่นแบบเทอร์โบแฟน (Turbofan) ของแพรต แอนด์ วิตต์นีย์ (Pratt & Whitney) รุ่น PW815GA  โดยใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือที่เรียกว่า SAF ทั้งหมดซึ่งไม่มีการผสมเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในเครื่องบิน  


ทั้งนี้ Sustainable Aviation Fuel (SAF) เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตจากขยะ ของเหลือในภาคการเกษตร ตลอดจนน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว มาใช้ให้พลังงานกับเครื่องบิน ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้งานได้จริงจาก FAA (Federal Aviation Administration) หน่วยงานที่กำกับการบินของสหรัฐอเมริกาแล้วในปัจจุบัน แต่ทางกัลฟ์สตรีมไม่ได้แจ้งปริมาณเชื้อเพลิงแบบ SAF ที่ใช้ทั้งหมดในเที่ยวบินนี้ โดยจะนำข้อมูลการบินทั้งหมดไปยกระดับคุณภาพเชื้อเพลิง SAF และปรับปรุงการบินต่อไป


ข้อมูลเสริมเครื่องบิน Gulfstream G600 ที่ใช้บินด้วยเชื้อเพลิง SAF

Gulfstream G600 เป็นเครื่องบินเจ็ทที่เน้นความหรูหราและความประหยัดเชื้อเพลิง มีระยะการบินได้ไกลสูงสุด 6,600 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 12,200 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุดคือ 0.925 มัค หรือ 982 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสารสูงสุด 19 คน สำหรับเก้าอี้ปกติ และเก้าอี้นอนสูงสุด 10 ที่นั่ง หรือจะให้มีทั้ง 2 แบบ ผสมกันตอนสั่งซื้อก็ได้เช่นกัน


ทั้งนี้ เส้นทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ SAF เป็นหนึ่งในเส้นทางบินทดสอบที่สำคัญ ซึ่งสายการบินใหญ่อย่างเวอร์จิน แอตแลนติก (Virgin Atlantic) รวมถึงผู้ผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ต่างก็อยากเป็นกลุ่มแรกที่เดินทางเป็นกลุ่มแรกในเส้นทางนี้ แต่ว่า กัลฟ์สตรีม ที่จับมือกับแพรต แอนด์ วิตต์นีย์ ก็เอาชนะไปเสียก่อน


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นไปตามเป้าหมายในวงการอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ที่ผลักดันวาระการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายใน 2050 นี้ โดยเที่ยวบินประวัติศาสตร์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ลดการปล่อยคาร์บอนลดลงกว่าร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงดั้งเดิม ซึ่งสามารถแสดงศักยภาพของ SAF ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเที่ยวบินไกล (Long-haul) ได้เป็นอย่างดี


ที่มาข้อมูล New AtlasWorld Energy

ที่มารูปภาพ Gulfstream


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง