รีเซต

‘สทท.’ หนุนรัฐเคาะชดเชยหยุดสงกรานต์เดือน ก.ค. เชื่อกระตุ้นเที่ยวในประเทศพุ่ง

‘สทท.’ หนุนรัฐเคาะชดเชยหยุดสงกรานต์เดือน ก.ค. เชื่อกระตุ้นเที่ยวในประเทศพุ่ง
มติชน
4 มิถุนายน 2563 ( 05:26 )
127

 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า หากรัฐบาลจะนำวันหยุดสงกรานต์มาชดเชยในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ เบื้องต้นมองว่ามีความเหมาะสม แม้จะเป็นฤดูฝน หรือเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่เนื่องจากเป็นเดือนที่มีวันหยุดอยู่แล้ว หากสามารถกำหนดวันหยุดให้ติดกันได้ เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ไม่มีการเดินทางเลยกว่า 2 เดือน คนน่าจะอัดอั้นมากพอสมควร การอนุญาตให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ วันหยุดติดต่อกันหลายวัน น่าจะเป็นแรงกระตุ้นที่ดี ในการช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 

“ความจริงที่ผ่านมา ไม่อยากให้มีวันหยุดยาวติดกันหลายวัน เพราะคนไทยจะวางแผนในการออกไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศยังดูไม่ดีมากนัก ทำให้เชื่อว่าเมื่อมีวันหยุดยาว คนที่เคยออกไปเที่ยวต่างประเทศ จะหันกลับมาเที่ยวในประเทศแทน และคาดหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น ความกังวลอยู่ที่หากปลดล็อกแล้ว มีการเดินทางเกิดขึ้น จะสามารถคุมการระบาดของไวรัสอยู่หรือไม่ โดยหากไม่มีการระบาดระลอก 2 จะดีมาก ทุกอย่างจะกลับมาแทบเป็นปกติอีกครั้ง” นายชัยรัตน์กล่าว

 

นายชัยรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้แม้จะยังไม่มีการปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์เฟส 4 แต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีกลุ่มคนเริ่มออกเดินทางแล้วประมาณ 20-30% โดยส่วนใหญ่นิยมเดินทางข้ามจังหวัดในระยะใกล้ๆ เน้นเมืองท่องเที่ยว อาทิ ทะเล หรือแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติเป็นหลัก โดยปกติคนจะนิยมเดินทางท่องเที่ยวเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เป็นการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือพักค้างแรม 1 คืนเท่านั้น รวมถึงเลือกเที่ยวในจังหวัดใกล้ๆ ทำให้หากมีวันหยุดยาวมากขึ้น จะเอื้อให้สามารถวางแผนการเดินทางได้หลายวันมากขึ้น และสามารถไปเที่ยวในจังหวัดระยะไกลได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นประเมินว่า การเดินทางเที่ยวในประเทศ จะกลับมาเป็นปกติตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป

 

นายชัยรัตน์กล่าวว่า สำหรับรูปแบบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ภาครัฐมีแนวทางเบื้องต้นออกมาแล้วนั้น มองว่ามาถูกทางแล้ว เพราะเน้นไปที่ไทยเที่ยวไทย แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่รายละเอียดของรูปแบบแพคเกจ ซึ่งต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง ทั้งรูปแบบการใช้ และกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ เพื่อทำให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึงมากที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง