รีเซต

เอกชนท่องเที่ยวโอด เปิดรับต่างชาติ 1,200 คนต่อเดือน สร้างรายได้ไม่พอต่อลมหายใจพยุงธุรกิจต่อ

เอกชนท่องเที่ยวโอด เปิดรับต่างชาติ 1,200 คนต่อเดือน สร้างรายได้ไม่พอต่อลมหายใจพยุงธุรกิจต่อ
มติชน
1 ตุลาคม 2563 ( 13:24 )
82

เอกชนท่องเที่ยวโอด เปิดรับต่างชาติ 1,200 คนต่อเดือน สร้างรายได้ไม่พอต่อลมหายใจพยุงธุรกิจต่อ

 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาส 4/2563 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์อยู่ที่ 63 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดหวังว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาสนี้จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/2563 เล็กน้อย เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น แต่ยังคาดว่าผลประกอบการจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมากเนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/2562 ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 88 โดยสทท.คาดว่าในไตรมาส 4 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเบื้องต้น 50,000 ราย ลดลงกว่า 99.52% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และคาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาประมาณ 4,500 ล้านบาท ลดลง 99.11% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รวมถึงคาดว่าในช่วงสิ้นปี 2563 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทั้งปีอยู่ที่ 6.74 ล้านคน ลดลง 83.07% จากปี 2562 มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 336,513 ล้านบาท ลดลง 82.59% แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของรัฐบาลในไตรมาส 4 นี้

 

“ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ หรือ สเปเชียลทัวริสวีซ่า (เอสทีวี) ที่ 1,200 คนต่อเดือน โดยจำกัดให้เข้ามาพำนักแบบระยะยาว (ลองสเตย์) เริ่มเดือนภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งมองว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากพอในการหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะต้องกลับไปปิดกิจการชั่วคราวอีกครั้ง โดยเฉพาะกิจการในพื้นที่ที่มีฐานลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง อาทิ ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ จึงต้องการให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างจำกัดทันที หลังเห็นผลการนำเข้านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยตลอดเดือนตุลาคมนี้แล้ว” นายชัยรัตน์ กล่าว

 

นายชัยรัตน์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยว ประจำไตรมาส 3/2563 จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 700 ราย พบว่า ระดับดัชนีอยู่ที่ 60 (ระดับปกติเท่ากับ 100) แม้ว่าจะสูงกว่าที่ผู้ประกอบการได้คาดการณ์ไว้ที่ 37 ในช่วงไตรมาส 2/2563 และปรับดีขึ้น หากเทียบกับไตรมาส 2/2563 ซึ่งลดลงเหลือ 12 เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เป็นระยะออกมา ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง แต่ยังถือว่าต่ำกว่าไตรมาส 3/2562 ค่อนข้างมาก ซึ่งมีดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ที่ 91 เพราะยังมีปัจจัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกกดดันอยู่ โดยหากจำแนกตามประเภทของสถานประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการสถานบันเทิงประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาสดังกล่าวอยู่ที่ 42 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมามากกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ แต่ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งประเมินไว้เป็นศูนย์ เพราะมีคำสั่งล็อคดาวน์ รองลงมาคือธุรกิจที่พักแรมอยู่ที่ 48 สวนสนุกและธีมพาร์ค 50 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผลประกอบการยังอยู่ในระดับลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาในระดับมากที่สุด ส่วนธุรกิจนวดและสปาอยู่ที่ 60, ธุรกิจนำเที่ยว 68 ร้านอาหาร 73 และธุรกิจขนส่ง 74 ประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก ด้านธุรกิจสินค้าที่ระลึกอยู่ที่ 89 ประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่าปกติ

 

ด้านนายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า แอตต้ามีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไปจากประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงโควิดต่ำมากกว่า 60 วันขึ้นไปเพิ่มเติม อาทิ จีน และไต้หวัน โดยให้เข้ามาเที่ยวไทยแบบไม่กักตัว เพราะหากยังกำหนดให้มีการกักตัว จะไม่มีนักท่องเที่ยวทั่วไปอยากมา ซึ่งในขั้นตอนการปฏิบัติสามารถใช้มาตรการดูแลอย่างคุมเข้ม กำหนดให้มีการเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น และควบคุมพื้นที่ที่พานักท่องเที่ยวไปเที่ยว เพื่อให้สามารถติดตามตัวได้ โดยมองว่าขณะนี้ ต้องกล้าเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว หากเป็นไปได้อยากให้เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเดือนที่มีความต้องการ (ดีมานด์) เดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อเดือน ระยะเวลาพำนัก 5-7 วัน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท สร้างกระแสการเดินทางให้ดีขึ้นถึงช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนในต้นปี 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง