เวลาดวงจันทร์เดินเร็วกว่าโลก แม้เพียงแค่ 0.000056 วินาที แต่กระทบภารกิจอวกาศอนาคต
---เวลาดวงจันทร์เดินเร็วกว่าโลก---
พิชุนาถ ปัตละ และนีล แอชบี นักฟิสิกส์ 2 คนจากสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ NIST นำเอาทฤษฎีสัมพัทธภาพของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” นักฟิสิกส์ชื่อดังก้องโลก มาคำนวณหาเวลาที่แท้จริงของดวงจันทร์
พวกเขา พบว่า นับตั้งแต่ดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงต่ำกว่าโลก เวลาบนนั้น ก็เดินเร็วกว่าบนโลก เป็นระยะเวลา “0.000056 วินาที” หรือ 56 ไมโครวินาที ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีสัมพัทธภาพ ที่ระบุว่า อัตราของนาฬิกามาตรฐานได้รับอิทธิพลจากพลังงานศักย์โน้มถ่วง ณ ตำแหน่งที่ตั้งนั้น ๆ และการเคลื่อนที่สัมพัทธ์
กล่าวง่าย ๆ คือ หากนาฬิกาตั้งอยู่บนสถานที่ที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำกว่าอีกสถานที่หนึ่ง เวลาของสถานที่นั้น จะเดินเร็วกว่าอีกสถานที่หนึ่ง เช่น ดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงที่ต่ำกว่าโลก ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงสูงกว่า จึงส่งผลให้เวลาบนดวงจันทร์เดินเร็วกว่าโลกนั่นเอง
---เวลาห่างกันเพียงนิด แต่กระทบภารกิจระดับโลก---
แม้เวลาที่แตกต่างจะห่างกันเพียงแค่ 0.0056 วินาทีเท่านั้น หากใช้ชีวิตกันตามปกติก็คงจะไม่รู้สึกถึงความต่างสักเท่าไหร่ แต่การที่เวลาของดวงจันทร์และโลกเหลื่อมกัน สิ่งนี้ส่งผลต่อภารกิจอวกาศในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ ประกาศว่า จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2026 ผ่านภารกิจ ‘อาร์เทมิส’ ความแม่นยำของการสื่อสาร และการนำทางระหว่างโลกและดวงจันทร์ จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
การที่เวลาบนโลกและดวงจันทร์แตกต่างกันเพียงนิด ก็อาจทำให้ยานอวกาศ หรือ รถโรเวอร์บนดวงจันทร์ เดินทางผิดพลาดได้
ฉะนั้น เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ บนดวงจันทร์ดำเนินไปอย่างราบรื่น นาซาจึงต้องสร้างระบบมาตรฐานเวลาสำหรับใช้งานบนดวงจันทร์ ตามคำสั่งของทำเนียบขาวสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อเขต “มาตรฐานเวลาจันทรคติ” หรือ LTC เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจ, การสื่อสาร และการนำทางบนดวงจันทร์ง่ายขึ้น
---สร้างถิ่นฐานดวงจันทร์ในอนาคต---
นอกเหนือจากการส่งมนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในรอบกว่า 50 ปี ภารกิจ ‘อาร์เทมิส’ ยังมุ่งสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ บนดวงจันทร์เพื่อสร้างฐานที่ตั้งถาวรบนนั้น ซึ่งฐานเหล่านี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับภารกิจอวกาศที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงมีแผนที่จะสร้างรางรถไฟ ไปพร้อมกับระบบขนส่งมนุษย์และสินค้าบนดวงจันทร์
เพื่อให้การวางแผนระยะยาวทั้งหมดได้ผล ทุกสิ่งอย่างบนดวงจันทร์จะต้องมีการประสานงานที่สมบูรณ์แบบ การจับเวลาที่แม่นยำจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ต่อกิจกรรมต่าง ๆ บนดาวบริวารโลก การศึกษาล่าสุด ที่ทำให้ค้นพบเวลาที่แตกต่างกันระหว่างโลกและดวงจันทร์ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างแรงโน้มถ่วงและเวลา ขณะวางแผนใช้ชีวิตบนดวงจันทร์
ทั้งนี้ นาซาจะต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อจับคู่เวลาระหว่างโลกและดวงจันทร์ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2026
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.ndtv.com/science/time-moves-faster-on-moon-than-on-earth-scientists-reveal-7153093