ภาษี 36% จากสหรัฐฯ กระทบไทยอย่างไร ยังเจรจาได้อีกไหม ? ในมุม รศ.ดร.อัทธ์

36% คืออัตราภาษีสินค้านำเข้าที่ไทยจะต้องเจอจากสหรัฐฯ หลังเมื่อเช้าวันนี้
(8 กรกฎาคม 2568) โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งจดหมายแจ้งเตือนประเทศไทย ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยในอัตราร้อยละ 36 โดยบอกว่าอัตรานี้ยังถือว่าน้อยหากเทียบกับการขาดดุลทางการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อประเทศไทย
ตัวเลขนี้ถือว่า ไม่เพิ่ม และไม่ลดลงจากที่ทรัมป์ประกาศตัวเลขภาษีออกมาเมื่อเดือนเมษายน แม้ว่าทางไทยจะส่งทีมไปเจรจาถึงสหรัฐฯ แต่ยังไม่สำเร็จ ทำให้ไม่บรรลุข้อตกลงระหว่างกัน และตัวเลขสินค้านำเข้าไทยไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 36%
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจอาเซียน บอกกับ TNN Online ว่า ตัวเลข 36% นี้ ถือว่าเลวร้ายมาก หากเราเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน
“ตัวเลขนี้ ถือว่าแย่ที่สุดแล้ว และ 36% นี้ อาจจะเป็นแค่ขั้นต่ำ หมายความว่า ตัวเลขอาจจะสูงขึ้นกว่านี้ได้ ซึ่งถือว่าแย่ที่สุด ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอาเซียนด้วยกัน คือ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ถือว่าสูงกว่ามาก”
โดยเวียดนาม เป็นชาติแรกในอาเซียนที่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้และอัตราภาษีลดลงมาที่ 20% ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 25% และอินโดนีเซียอยู่ที่ 32% ซึ่งนอกจากจะเป็นอัตราที่สูงแล้ว อ.อัทธ์ยังมองว่าเราจะได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางด้วย ไปถึงเรื่องงาน และฐานการผลิต
“เราจะได้รับผลกระทบกว้างขวางมากสําหรับสินค้าที่จะส่งไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราส่งไปอเมริกาประมาณ 63,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ 80% เป็นสินค้ากับอุตสากรรม 20% เป็นสินค้าเกษตร ซึ่งในนั้นก็มีกลุ่มสินค้าอุตสากรรมนี้ มีสินค้ากลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นของคนไทยซึ่งเป็น SMEs อยู่ 30% และเกษตรแปรรูป ซึ่งก็เสี่ยงที่จะคนตกงานเพิ่มขึ้น เสี่ยงเรื่องของการย้ายฐานการผลิต เสี่ยงที่ทุนต่างชาติจะไม่เข้ามาเมืองไทย และหันไปลงทุนในประเทศอาเซียนที่มีภาษีนำเข้าต่ำกว่าไทย เช่นเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย” ซึ่งอาจารย์ยังย้ำว่า หากสถานการณ์อัตราภาษี 36% บวกกับสถานการร์เศรษฐกิจปัจจุบัน ก็จะทำให้สถานการณ์อยู่ในระดับที่แย่มาก
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
และหากเราต้องเจอกับอัตราภาษีจำนวนนี้จริงๆ อ.อัทธ์ก็ชี้ว่า รัฐบาลต้องเตรียมรับมือทันที“อันที่หนึ่ง รัฐบาลต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ไม่ให้เศรษฐกิจ ชะลอตัวไปไปมากกว่า 1-1.2% อันนี้เรื่องเร่งด่วน อันที่สอง รัฐบาลต้องหาทางเยียวยาให้กับภาคการผลิต เยียวยาในการปรับโครงสร้างของภาคการผลิตทางเกษตรและอุตสากรรมไทย ที่ได้รับผลกระทบ และแข่งขันไม่ได้กับสินค้าเวียดนาม อันนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนสองเรื่องที่ต้องทําเป็น ‘แผนระดับชาติ’”
แต่แม้ว่าตัวเลขนี้ จะถูกประเมินว่าแย่ต่อเศรษฐกิจไทยมาก พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอว่าจดหมายนั้นเป็นการเลื่อนเส้นตายภาษีไปเป็น 1 ส.ค. และสหรัฐฯ เองยังไม่ได้ปิดการเจรจา ซึ่งทีมไทยก็จะเข้าเจรจาต่อเนื่อง และคาดว่าจะยังมีช่องทางให้ปรับลดภาษีลงมาได้อีก
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็มองว่า นอกจากไทยแล้ว ก็จะมีหลายประเทศที่ใช้ช่วงเวลา 20 กว่าวันที่เหลืออยู่นี้ ในการเข้าพบปะเจรจากับสหรัฐฯ และหากไทยเจรจา ก็เห็นได้จากจดหมายของทรัมป์ว่า มีสิ่งสำคัญที่เราต้องทำอย่างชัดเจนด้วย
“ประเทศไทยจะต้องพร้อมกับข้อเสนอที่เราต้องไปให้ความกระจ่างกับสหรัฐอเมริกา เรื่องของการเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS และเรื่องของสงครามเซมิคอนดักเตอร์ เพราะประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของการส่งชิปจากบริษัท NVIDIA เข้าไปในประเทศไทย แล้วก็ส่งไปประเทศจีน
และอีกเรื่องคือ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศไทยที่มีต่อสินค้าเกษตร สหรัฐฯ มองว่า เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ปลอม ตัวเลขที่เรามายืนยันให้เขา เขาบอกมันเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ปลอม ซึ่งอันนี้ก็ต้องไปอธิบายรายการ และสาระให้เข้าใจว่าสิ่งที่เขาพูดถึงมันจริงไหม ไม่งั้นก็มีโอกาสจะเจอมากกว่า 36% นี่คือสองเรื่องที่จะต้องไปเคลียร์
และอย่างที่รู้ว่าประเทศอื่นๆ ก็จะคิดเหมือนเราว่า มีอีก 20 วันที่จะต้องเร่งคุย เพื่อไม่ให้เจออัตราภาษีที่ทรัมป์ประกาศไว้ตอนเมษายน เพราะฉะนั้นก็จะมีประเทศส่งข้อเสนอเข้าไปเยอะ ซึ่งเขาจะดูข้อเสนอของไทยหรือไม่ 2 ข้อสงสัย และข้อกล่าวหาที่เป็นกังวลของสหรัฐฯ ที่ผมพูดถึง เราต้องทำให้เคลียร์ด้วยเช่นกัน” อาจารย์ย้ำ
ซึ่งหากมาดูประเทศอาเซียนที่ประสบความสำเร็จอย่างเวียดนามนั้น จะเห็นได้ว่า เขาได้ยื่นข้อเสนอนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ มายังเวียดนามด้วยอัตรา 0% ซึ่งหากไทยมีการเสนอแบบนี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะกระทบกับเรามากพอสมควร
"ถ้าเราลดไป 0% ได้รับผลกระทบเยอะมาก ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตร แต่เราเจอ 36% แล้วเราให้นำเข้าเขาไป 0% อีกเนี่ย อันนี้ยิ่งกระทบหนัก เพราะเวียดนามเจอ 20% และ 0% ที่เราจะเข้ามาเป็นน้ํามันเยอะที่สุด ซึ่งอันนี้จะไม่กระทบไทย อย่างอื่นคือเครื่องจักร เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วน อันนี้กระทบกับกลุ่มซัพพลายเชนที่เป็นคนไทย ที่เป็น SMEs ไทย ซึ่งมีสินค้าจากสหรัฐเข้ามาแข่ง
กลุ่มที่เป็น ชิ้นส่วนเครื่องบิน อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเราผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินรึเปล่า แต่เรานําเข้ามาด้วย เพราะว่า 0% ก็ต้องเปิดให้การนําเข้า และกลุ่มที่เป็นยางสังเคราะห์ อันนี้ก็ได้รับผลกระทบที่จะมีต่อราคายางพารา ราคายางธรรมชาติของไทย
กลุ่มพืชน้ํามัน ถั่วเหลือง ข้าวโพด พวกนี้ทําให้มีโอกาสที่ราคาปาล์มจะต่ำลง เพราะอันนี้เป็นพืชน้ํามันเข้ามาในประเทศมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่จะทําให้ราคาผลปาล์มสดตกได้ กลุ่มที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทย คือแอปเปิ้ล เชอร์รี่ ที่ราคาจะถูกลง ส่วนกลุ่มเนื้อสัตว์ต่างๆ อันนี้ก็ได้รับผลกระทบต่อเกษตรกรแน่นอนทั้งรายเล็กรายใหญ่ ส่วนผักผลไม้ อันนี้เราก็จะนำเข้าเหมือนกัน แต่ที่ไม่ได้รับผลกระทบคือตัวที่เราไม่ได้ผลิต ซึ่งไม่กระทบแน่นอน แต่จากทั้งหมดน้ีแสดงให้เห็นว่า เราจะเห็นว่าได้รับผลกระทบในวงกว้างมาก ถ้าปรับการนำเข้าสหรัฐฯ เป็น 0%”
ประเด็นการลดภาษีสินค้านำเข้าให้สหรัฐฯ เหลือ 0% ทำให้เราตั้งคำถามกับอาจารย์อัทธ์ต่อว่า แต่ถ้าหากเรายอมลดลงมา 0% และให้เขาลดภาษีของเราจาก 36% ลงมาอีกนั้น จะเป็นการเจรจาที่คุ้มค่าหรือไม่ อาจารย์ก็มองว่า “ไม่คุ้ม”
“คําถามคือว่าจาก 36% มันลดลงไปเท่าไหร่ ถ้าลดลงไปเท่ากับเวียดนาม ที่ 20% ก็ถือว่าไม่คุ้ม ยังแพ้เวียดนามอยู่ดี เพราะว่าเวียดนามราคาสินค้าถูกกว่าเราวันนี้เนี่ยต้องยอมรับ 36% แล้วก็มาปรับโครงสร้างข้างใน และก็ไปปลดล็อคให้เราได้ลดกว่า 36% แล้วเรื่องการนำเข้าสหรัฐฯ มาไทยเป็น 0% ปรับให้ในบางรายการเท่านั้น อย่าให้เป็น 0% ทั้งหมด ถ้าลด (ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ) ลงมา 20% แล้วปรับนำเข้าเรา 0% บางรายการ ผมมองว่าอันนี้คุ้ม”
แต่ถึงแม้การเจรจาจะดำเนินต่อไปอย่างที่ทีมไทยแลนด์ยืนยันนั้น แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะลดลงเหลือ 0% และจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแน่นอนเมื่อถึงเส้นตาย 1 สิงหาที่ทรัมป์กำหนด อาจารย์อัทธ์เองก็มองว่า ไม่ว่าการเจรจาจะสำเร็จ หรือไม่ รัฐบาลไทยก็ต้องเตรียมรับมือหนักต่อจากนี้แน่นอน
“ถ้าในฉากทัศน์ที่เลวร้าย ที่อาจจะมากกว่า 36% และหากใน 20 วันที่เหลือที่เราไปเจรจา ถามว่ามีโอกาสไหม ก็ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยอย่างที่ผมบอก แต่มันอาจจะยาก เพราะว่ามันอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการแข่งขันแล้ว ประเทศอื่นๆ ก็เสนอไปเต็มออฟชั่น ชุดใหญ่เหมือนกัน” อาจารย์มองทั้งยังเสริมด้วยว่า หากมองการเจรจาของทีมไทยแลนด์นั้น ที่มาเร่งช่วงโค้งสุดท้าย แสดงให้เห็นถึงความล่าช้าอย่างชัดเจนด้วย
“เราล่าช้าไป เราเพิ่งมาในแค่ 10 วันสุดท้ายของวันที่ 9 กรกฎาคมเท่านั้นเอง 70-80 วันที่แล้ว ควรจะเร่งการเจรจาให้มากกว่าครั้งที่ 1-2 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เราเร่งให้มีการนับ 1, 2 หรือ 3 โอกาสจะจบดีลมีสูงมาก เวียดนามเป็นประเทศแรกที่โทรไปคุยกับสหรัฐอเมริกาสุดท้ายของจบดีลใน 3 ครั้ง ดังนั้นผมว่าเราทํางานช้าไปมาก
ประเด็นที่ 2 ประเทศไทยใช้แนวทางในการเจรจาก็คือชนะทั้งคู่ Win-Win ในขณะที่สหรัฐฯ ใช้ทฤษฎีคนบ้า ก็คือเราไม่รู้ว่าสหรัฐฯ จะทำอะไรออกมาในรูปแบบไหน เพราะฉะนั้นการที่ใช้ Win-Win โอกาสจบดีลยากมาก เพราะหากไปดูอังกฤษก็เสียเปรียบที่เจรจาจบไปแล้ว หรือจีน และเวียดนามก็เสียเปรียบ ไม่มีใคร Win-Win เลยในดีลนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องให้เค้าชนะ แต่เราเสียเปรียบน้อยที่สุด มันควรจะเป็นแนวทางนั้น ถ้าเราจะเอาชนะ ทรัมป์ไม่ยอมแน่ๆ เพราะนั้นเราต้องไปด้วย การที่ยอมให้คุณชนะ แต่พยายามรักษาในส่วนที่เราจะเสียให้น้อยที่สุด”
สุดท้ายแล้ว นอกจากไทยเอง หาก 1 สิงหาคม ดีเดย์เส้นตายภาษีเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ อ.อัทธ์ก็มองว่าภาพเศรษฐกิจโลกมันจะมีความผันผวน หรือว่าอนาคตจะมีแนวโน้มที่จะตกต่ำลง
“เศรษฐกิจโลกมีโอกาสถดถอยแน่นอน ภายใต้ภาษีปัจจุบันที่เป็นอยู่ เพราะแต่ละประเทศเจอกันหนักมาก ที่ 30-40% ทั้งนั้น เฉลี่ยแล้วน่าจะอยู่ที่ 30% ทั้งโลก
ซึ่งก็จะทําให้เศรษฐกิจโลกเมีโอกาสถดถอยสูง เศรษฐกิจไทย (GDP) ก็น่าจะ 1-1.2% ก็จะหายไปประมาณเกือบ 1% ถ้าหากเราเจอกรณีอัตราภาษี 36%” ซึ่งอาจารย์สรุปว่า เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “อดมื้อ กินมื้อ”
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
